พื้นฐานการวางแผนการเงินง่าย ๆ อย่างมีประสิทธิภาพด้วยตนเอง

การวางแผนการเงินส่วนบุคคลเป็นกระบวนการ หรือเป็นขั้นตอนของการจัดการทางการเงิน ที่สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของชีวิตได้ เช่น การมีบ้านเป็นของตนเอง การออมทรัพย์เพื่อการศึกษาของบุตร และการวางแผนสำหรับวัยเกษียณ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและครอบครัว  การวางแผนการเงินยังช่วยให้ทราบ และเข้าใจว่าการตัดสินใจใด  ๆ ทางการเงินนั้น จะส่งผลกระทบทางด้านการเงินในด้านอื่น ๆ ด้วย  เช่น การซื้อรถยนต์จะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน และแผนเพื่อวัยเกษียณของตนเองในอนาคต เป็นต้น

การตัดสินใจทางการเงินยังอาจจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายในชีวิตด้วย ทั้งในส่วนของเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น การวางแผนการเงินจะช่วยให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเงินในภาพรวมทั้งหมดในชีวิต เมื่อได้รับทราบถึงความสำคัญอย่างนี้แล้ว เรามาเรียนรู้พื้นฐานการวางแผนการเงินง่าย ๆ ที่ให้ผลลัพธ์อันทรงประสิทธิภาพด้วยตนเองกันดีกว่า เมื่อท่านผู้อ่านพร้อมกันแล้วขอเรียนเชิญทุกท่านมาตามอ่านไปด้วยกันเลย

ความสำคัญของการวางแผนการเงิน

การวางแผนการเงินส่วนบุคคล (personal financial planning) จะครอบคลุมถึงแผนและกระบวน ในการวางแผนทางการเงินทุก ๆ ด้านที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจกรรมทางการเงินของแต่ละบุคคล ทั้งนี้การวางแผนการเงินส่วนบุคคลเป็นกระบวนการในการประเมินและปรับปรุง เพื่อให้เกิดฐานะการเงินที่มั่นคง ด้วยการศึกษาปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง และการตัดสินใจ 

โดยการวางแผนทางการเงินจะเกี่ยวข้องกับการจัดหา หรือการใช้ไปในทรัพยากรที่เป็นเงิน เช่น การออม การลงทุนตามเป้าหมาย การยกระดับการดำรงชีวิตที่สูงขึ้น และมีความมั่นคงในชีวิต เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายทางการเงิน ที่ต้องการให้บรรลุภายใต้เงื่อนไขเฉพาะตัว โดยผ่านการบริหารและวางแผนทางการเงิน ซึ่งถูกออกแบบมาตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลทางการเงิน การกำหนดวัตถุประสงค์ ตรวจสอบฐานะการเงินในปัจจุบัน กำหนดกลยุทธ์และแผนทางการเงิน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในอนาคต 

การวางแผนทางการเงิน จึงเป็นการพยายามเชื่อมช่องว่างทางด้านการเงิน ระหว่างสถานะทางการเงินในปัจจุบัน กับความต้องการทางการเงินในอนาคต ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดที่เฉพาะตัวของแต่ละบุคคล การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลมีความสำคัญ เพราะมันจะช่วยให้บุคคลวางแผนการหารายได้ การใช้จ่าย การคุ้มครองชีวิต การออม การลงทุน และการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเงินออมและเงินลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงินในอนาคต จนทำให้เกิดความมั่นใจในการดำรงชีวิต

สำหรับประเทศไทยของเรา เรื่องการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลยังเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งไม่เคยมีองค์กรใดรวบรวมความรู้ด้านนี้อย่างครอบคลุมครบถ้วนสมบูรณ์ ความรู้ที่ประชาชนมีอยู่ในเรื่องนี้จะเป็นแบบง่าย ๆ เช่น การนำเงินออมไปฝากกับสถาบันการเงิน หรือนำไปซื้อหลักทรัพย์  ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เรื่องการวางแผนทางการเงินอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ ยังมีค่านิยมเดิม ๆ อีกด้วยว่า เรื่องการเงินเป็นเรื่องความลับ ไม่ต้องการหรือให้คำแนะนำกับคนอื่น การเผชิญความยากลำบากทางด้านการเงินอย่างในปัจจุบัน จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญทำให้เห็นความสำคัญของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลมากขึ้น 

ถ้าหากช่วยกันผลักดันให้มีการศึกษา และเผยแพร่ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยมุ่งหวังว่าความมั่นคงและชีวิตของบุคคล จะส่งผลดีต่อความมั่นคงของประเทศชาติด้วย

ผลเสียเมื่อละเลยการวางแผนการเงิน

การละเลยและไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงิน อาจก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมายหลายอย่างดังนี้ คือ

  1. การละเลยไม่ทำการวางแผนทางการเงิน จะทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินตามที่ต้องการได้ ทำให้เป็นภาระแก่ตนเองและผู้อื่น การมุ่งหวังที่จะทำสิ่งใดให้บรรลุเป้าหมาย ถ้าปราศจากการวางแผนที่ดี การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอาจเป็นไปไม่ได้ หรือคงเป็นไปได้ยากมาก
  2. เมื่อละเลยย่อมก่อให้เกิดความสูญเสียทางการเงิน ซึ่งจะรวมถึงความสูญเสียโอกาสในการหาเงิน สำหรับใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การตกงานเป็นระยะเวลายาวนาน การเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง การประสบอุบัติเหตุไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เป็นต้น 
  3. หากละเลยจะประสบกับปัญหาความยากลำบาก ในการใช้ชีวิตบั้นปลายภายหลังเกษียณ  เมื่อขาดการวางแผนทางการเงินที่ดี เพื่อรองรับชีวิตภายหลังการทำงานแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรง และไม่มีโอกาสที่จะแก้ไขได้ คือ มีเงินไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตตามอัตภาพที่ควรจะเป็นนั่นเอง 

ดังนั้น การวางแผนการเงินนอกจากจะช่วยให้สามารถ บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้แล้ว ยังช่วยให้ตัวเองและผู้อื่นมีหลักประกันในอนาคตที่มั่นคง สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยระดับมาตรฐาน มีชีวิตใหม่ในบั้นปลายภายหลังเกษียณอายุอย่างมีความสุข และไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน หรือญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องด้วย

กระบวนการวางแผนการเงิน

  1. การแปลงเป้าหมายให้เป็นแผนปฏิบัติการ  (action plan) ที่มีกระบวนการปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อใช้เป็นแนวทางนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ ตามเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ  ซึ่งมีกระบวนการทั้งหมด 6 ขั้นตอน คือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับคำปรึกษาและนักวางแผนการเงิน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูล สำหรับการจัดทำแผนการเงินให้เป็นไปอย่างใกล้เคียง ตามเป้าหมายและความต้องการมากที่สุด
  2. รวบรวมข้อมูลและเป้าหมายทางการเงิน การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อตรวจสอบสถานภาพทางการเงิน รวมไปถึงความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง ซึ่งข้อมูลที่มีการเก็บรวบรวมนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็นข้อมูลทางด้านการเงิน ซึ่งจะเป็นตัวที่จะแสดงให้เห็นสถานะทางการเงิน หรือสุขภาพทางการเงิน ข้อมูลเชิงคุณภาพทั่วไป เช่น ประวัติส่วนตัว สุขภาพโดยรวม วิธีการดำเนินชีวิต ทัศนคติในด้านการออม การลงทุน การยอมรับความเสี่ยง และความคาดหวังอื่น ๆ ความถูกต้องของข้อมูลเป็นก้าวแรก ที่จะนำไปสู่กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ 
  3. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถานภาพทางการเงิน ความถูกต้องและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูล จะมีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของแผนทางการเงิน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น จะต้องพิจารณาถึงความเข้มแข็งทางการเงิน และตรวจสอบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพในการที่จะบรรลุตามเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ ในส่วนของข้อมูลเชิงคุณภาพ จะชี้ให้เห็นความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการบรรลุตามเป้าหมายทางการเงิน
  4. การจัดทำและการนำเสนอแผนทางการเงิน ในการจัดทำและนำเสนอสามารถแบ่งกระบวนการออกได้เป็น 3 ขั้นตอนคือ ประเมินทางเลือกของแผนทางการเงินทั้งหมดที่มี พัฒนาแผนการเงิน นำเสนอแผนการเงิน ในขั้นตอนนี้การวางแผนทางการเงินมีส่วนช่วยให้เข้าใจถึงสถานะทางการเงินในปัจจุบัน ข้อสมมติฐาน รายละเอียดและขั้นตอน ข้อดีและข้อจำกัด ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลกระทบของแผนการเงินดังกล่าว ที่จะช่วยให้สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ และความต้องการทางการเงินที่ต้องการได้ 
  5. การปฏิบัติตามแผนการเงิน พิจารณาเลือกเครื่องมือ หรือสินค้าและบริการทางการเงิน ที่จะนำมาใช้ตามแผนปฏิบัติการ ทั้งนี้ในกระบวนการและขั้นตอนของการเลือกเครื่องมือ หรือสินค้าและบริการทางการเงิน ต้องคำนึงถึงสถานภาพทางการเงิน และความสามารถของเครื่องมือดังกล่าว ในการตอบสนองต่อเป้าหมายและความต้องการทางการเงินให้ดีด้วย
  6. การทบทวนตรวจสอบแผนทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากแผนทางการเงินที่ดี จะต้องมีการประเมินและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอว่า ผลที่ได้มีการเบี่ยงเบนไปจากที่คาดหวังไว้หรือไม่ และเป็นผลเนื่องมาจากปัจจัยหรือสาเหตุใด ขอบเขตของการทบทวนและตรวจสอบจะครอบคลุมข้อมูลในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญได้แก่ ผลและความก้าวหน้าของแผนการเงินที่นำไปปฏิบัติ เช่น ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงด้านสถานะภาพ เช่น เป้าหมายทางการเงิน สุขภาพ รายรับและรายจ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

การบริหารความเสี่ยง

ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึง ความไม่แน่นอนที่อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่มิได้สร้างฝันขึ้นในอนาคต ที่มีผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สิน ที่นำไปสู่การสูญเสียรายได้ หรือความสามารถในการหารายได้ และทำให้มีรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้น จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการบริหารความเสี่ยงที่ดีพอ มารองรับความเสี่ยงดังกล่าว ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ความเสี่ยงแบบสุ่ม (speculative Risk) เป็นความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ เช่น การลงทุนซื้อทองคำเพื่อเก่งกำไรนั้น ผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นได้ทั้งกำไร ขาดทุน หรือเท่าทุน และความเสี่ยงอย่างแท้จริง (pure Risk) จะมีแต่โอกาสของผลลัพธ์ที่ส่อเค้าของการสูญเสียเพียงด้านเดียว โดยจะไม่เห็นโอกาสของผลลัพธ์ทางด้านบวกอยู่เลย อย่างเช่น การใช้รถยนต์ในแต่ละวันมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์คันอื่นได้ เป็นต้น ความเสี่ยงอย่างแท้จริงนั้นเป็นความเสี่ยงประเภทเดียวที่บริษัทประกันคำนึง

เป้าหมายทางการเงินที่ดี

การกำหนดเป้าหมายทางการเงินไม่ใช่เรื่องทำเล่น ๆ ให้พอผ่านไป แต่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป้าหมายทางการเงินที่ดี จะนำพาให้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง ลักษณะของเป้าหมายทางการเงินที่ดีนั้น ต้องเป็นเป้าหมายที่มีความชัดเจน แล้วยังจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้ 

  1. อะไร (What) เป้าหมายทางการเงินจะต้องเป็นรูปธรรม ที่สามารถระบุได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เช่น ต้องการมีรถยนต์ ต้องการมีบ้าน ต้องการมีเงินทุนการศึกษาสำหรับบุตร เป็นต้น
  2. เท่าใด (How Much) เมื่อทราบว่าเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการคืออะไร จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการที่จะบรรลุตามเป้าหมาย หรือให้ได้ในสิ่งที่ต้องการดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องมีต้นทุน หรือต้องใช้เงินจำนวนเท่าใด เพื่อที่จะได้ขีดวงทางการเงินให้แคบลงไปในรายละเอียดมากขึ้น เช่น ต้องการมีรถยนต์ที่ราคาเท่าไหร่ ต้องการบ้านราคาเท่าไหร่ ต้องการทุนการศึกษาสำหรับบุตรจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น 
  3. เมื่อใด (When) จะต้องมีองค์ประกอบของเวลามาเป็นตัวกำหนดว่า ต้องการให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการเมื่อไหร่ เช่น ต้องการมีรถยนต์ราคาเท่าไหร่ ภายในระยะเวลากี่เดือนกี่ปี 

นอกจากองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการแล้ว ยังจะต้องมีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้ 

  1. เป้าหมายทางการเงินจะต้องสมเหตุสมผล และอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ จำเป็นต้องคำนึงถึงเหตุไม่คาดฝัน ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
  2. ต้องเป็นเป้าหมายทางการเงินที่เหมาะสม

ดังนั้นในการกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ดี จึงควรจะมีการยึดกรอบตามหลักการของ SMART ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

S Specific ชัดเจน รู้ว่าต้องการอะไร

M Measurable วัดผลได้ รู้ว่าใกล้จะบรรลุเป้าหมายแล้วหรือยัง

A Achievable ทำสำเร็จได้ รู้ว่าจะทำอย่างไรให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

R Realistic สามารถบรรลุผลได้ ตั้งเป้าหมายอย่างสมเหตุสมผล และสามารถทำให้เกิดผลขึ้นจริงได้

T Time-bound มีกำหนดเวลา มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน แน่นอน

สรุปได้ว่า การวางแผนทางการเงินมีบทบาท และความสำคัญที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงิน ความมั่นใจในการดำเนินชีวิต และอิสรภาพทางการเงินในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังละเลย และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินเท่าที่ควร เพราะสถานภาพหรือสถานะทางการเงิน ปัจจัยทางด้านความเชื่อและทัศนคติ อาจนำมาซึ่งผลเสียทางการเงินหรือโอกาส 

นอกจากนี้ ในระยะยาวอาจทำให้บุคคลดังกล่าว ต้องประสบกับปัญหาความยากลำบากในการดำรงชีวิตในบั้นปลายภายหลังเกษียณอายุ ทั้งนี้องค์ประกอบของแผนทางการเงินประกอบด้วยขั้นตอนทั้งหมด 6 ขั้นตอน คือ การเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดทำแผนทางการเงิน นำเสนอแผนทางการเงิน ลงมือปฏิบัติ และในกระบวนการสุดท้าย จะต้องมีการทบทวนและตรวจสอบแผนทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แผนทางการเงินดังกล่าวทันสมัย และสอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา.