ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่ง ที่กำลังจะประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง ในขณะที่อายุขัยของประชากรเพิ่มขึ้น เนื่องจากการพัฒนาทางการแพทย์และสุขอนามัย ทำให้จำนวนประชากรของผู้สูงอายุ กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงอนาคตอันใกล้ รวมทั้งในสภาพสังคมปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงสภาพครอบครัว จากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว จากการโยกย้ายของคนวัยทำงานไปทำงานในต่างถิ่น
สภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐศาสตร์และค่าครองชีพ จึงเป็นการยากที่คนวัยทำงานในครอบครัว จะให้ความช่วยเหลือและเลี้ยงดูผู้สูงวัย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะถูกทอดทิ้งอย่างโดดเดี่ยว และมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพเมื่อเกษียณอายุมากยิ่งขึ้น เพื่อความมีอิสระทางการเงิน การดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และสามารถดำรงมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี ภายหลังเกษียณเช่นเดียวกับก่อนเกษียณ
การจัดทำแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ จึงเป็นขั้นตอนสำคัญของการวางแผนทางการเงิน อีกทั้งยังมีปัจจัยจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายเมื่อเกษียณ ทำให้ลักษณะของแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณของแต่ละคนแตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่เข้าใจกันผิดว่า การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ เป็นแผนที่จะจัดทำเฉพาะเมื่อถึงวัยใกล้เกษียณเท่านั้น
เพื่อให้แผนการเงินบรรลุตามเป้าหมาย ผู้ที่ต้องการอาจต้องอาศัยคำปรึกษาการวางแผนการเงินจากผู้วางแผนการเงิน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำ ดำเนินการรวบรวมข้อมูลของผู้รับคำปรึกษา ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน มาวางแผนตามความต้องการทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งประกอบด้วย 6 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การสร้างความสัมพันธ์
การวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ เป็นการวางแผนระยะยาว ดังนั้น ขั้นตอนการสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับคำปรึกษา จึงเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ ประการแรกผู้ที่วางแผนการเงินต้องพิจารณาถึง และเพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูล สำหรับบทบาทของผู้วางแผนในขั้นตอนแรกคือการสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับคำปรึกษา โดยในขั้นตอนนี้ผู้วางแผนทางการเงิน และผู้รับคำปรึกษาจะต้องมีความไว้วางใจ เปิดใจ และเข้าใจเป้าหมาย หน้าที่ของทั้งสองฝ่ายในการวางแผนอย่างชัดเจน ซึ่งนักวางแผนทางการเงินจะต้องใช้ความสามารถส่วนตัว ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับคำปรึกษา เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเปิดเผยข้อมูลได้อย่างสบายใจ สำหรับสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติในขั้นตอนนี้คือ
1.1 การแนะนำตัวของผู้วางแผนทางการเงิน การวางแผนทางการเงินนั้นผู้รับคำปรึกษาต้องให้ข้อมูล ทั้งข้อมูลส่วนตัว เช่น ประวัติครอบครัว ผู้อยู่ในอุปการะ อาชีพ รวมถึงเป้าหมายในการดำรงชีวิตทั้งก่อนและหลังเกษียณกับผู้วางแผนการเงิน เพื่อให้การวางแผนบรรลุตามเป้าหมายนั้น ซึ่งผู้รับคำปรึกษาต้องยินดีที่จะร่วมมือ ในการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นต่อการวางแผนอย่างเต็มใจ ดังนั้น การแนะนำตัวนี้ผู้วางแผนทางการเงิน จึงควรต้องเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ของตนเองทั้งข้อมูลการศึกษา ประวัติการทำงาน ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง และความชำนาญที่มี เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษามีความเชื่อมั่น และไว้วางใจต่อผู้วางแผนทางการเงิน
1.2 สำรวจทัศนะคติและเป้าหมาย ผู้วางแผนทางการเงินต้องทำการสอบถาม พูดคุย สัมภาษณ์เพื่อทำความเข้าใจถึงทัศนะคติ และเป้าหมายของผู้รับคำปรึกษาและคู่สมรส เพื่อการรวบรวมข้อมูลอันเป็นจุดมุ่งหมาย ผู้วางแผนการเงินจะสามารถวางแผนทางการเงินได้ตามเป้าหมาย ควรได้พบทั้งผู้รับคำปรึกษาและคู่สมรส ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์ และเข้าใจตรงกันในการจัดทำแผนมากกว่าการพบเพียงผู้ใดผู้หนึ่ง
1.3 การสร้างความเข้าใจในขอบเขตหน้าที่ ผู้วางแผนการเงินต้องเข้าใจข้อตกลง ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย ในลักษณะการทำงานเพื่อการวางแผน การเปิดเผยข้อมูล การคิดค่าธรรมเนียมบริการ การติดต่อ การทบทวนแผน โดยการระบุถึงข้อมูลและข้อจำกัดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน
ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อมูล
เมื่อผู้รับคำปรึกษาและผู้วางแผนการเงิน ได้รู้จักและเข้าใจการทำงานที่ต้องทำร่วมกันแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการรวบรวมข้อมูล ซึ่งประกอบไปด้วยการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล การรวบรวมข้อสมมติฐาน การจัดการประมาณการเงินได้ที่ต้องการเพื่อวัยเกษียณ และการรวบรวมข้อมูลแหล่งการเงินเพื่อวัยเกษียณ
2.1 การรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้รับคำปรึกษาและครอบครัวนั้น แม้จะไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน แต่เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพิจารณาความต้องการทางการเงิน ที่ผู้รับคำปรึกษาและผู้วางแผนการเงินต้องการ และคำนึงถึงการรวบรวมข้อมูลอาจกระทำได้ ทั้งการพูดคุยสัมภาษณ์ การกรอกแบบสอบถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลตามที่ต้องการครบถ้วน ซึ่งข้อมูลที่สำคัญมีดังนี้
2.1.1 ข้อมูลครอบครัว ผู้ที่อยู่ในความดูแล อาชีพ สถานะสมรส ข้อมูลจำนวนสมาชิกในครอบครัว และบุคคลที่ผู้รับคำปรึกษาต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงการวางแผนทางการเงิน ย่อมต้องแตกต่างจากผู้รับคำปรึกษาที่ไม่มีภาระ ในด้านอาชีพของผู้รับคำปรึกษา หากผู้รับคำปรึกษาเป็นเพียงลูกจ้าง แผนเพื่อวัยเกษียณย่อมแตกต่างจากผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ยังสามารถทำงาน และมีรายได้ต่อไปได้เมื่อเกษียณอายุ และสามารถจะเกษียณอายุเมื่อใดก็ได้
2.1.2 ช่วงอายุของผู้รับคำปรึกษา เนื่องจากจำนวนปีก่อนเกษียณและหลังเกษียณ เป็นตัวแปรสำคัญต่อการจัดทำแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ แผนการเงินของผู้รับคำปรึกษา ในแต่ละช่วงอายุย่อมมีแผนการเงินที่แตกต่างกัน ผู้รับคำปรึกษาที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณจะต้องเริ่มปรับตัว อาจยังไม่มีการออมเงินเพื่อวัยเกษียณอย่างเพียงพอ แผนการเงินเพื่อวัยเกษียณจึงเป็นสิ่งแรก ที่ผู้รับคำปรึกษากลุ่มนี้ต้องการอย่างเร่งด่วน
2.1.3 ประวัติครอบครัว เช่น ช่วงอายุการมีชีวิต การเจ็บป่วยของบุคคลในครอบครัว ช่วงอายุการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และข้อมูลการเจ็บป่วย รวมถึงโรคที่ถ่ายทอดโดยกรรมพันธุ์ เช่น โรคเบาหวาน มะเร็ง เป็นต้น มีส่วนช่วยในการประมาณการช่วงอายุของผู้รับคำปรึกษา หากบุคคลในครอบครัวส่วนใหญ่มีประวัติการมีชีวิตที่ยาวนานมากกว่าอายุ 85 ปี ย่อมจะประมาณการได้ว่า ผู้รับคำปรึกษาอาจจะมีอายุยืนยาวใกล้เคียงตาม
2.1.4 ประวัติสุขภาพของผู้รับคำปรึกษา ข้อมูลการเจ็บป่วยของผู้รับคำปรึกษาและคู่สมรสย่อมมีความสำคัญ นักวางแผนทางการเงินอาจจะต้องมีการวางแผนการเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากกว่าลูกค้า และผู้รับคำปรึกษาที่มีประวัติสุขภาพที่แข็งแรงดี
2.2 การรวบรวมข้อสมมุติฐาน ข้อมูลที่ต้องการใช้ในการจัดทำแผน ยังประกอบไปด้วยข้อสมมติฐาน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นข้อสมมุติฐานเชิงคุณภาพ เป็นข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนเงิน แต่จะมีผลต่อจำนวนเงินที่ต้องการเมื่อเกษียณ ซึ่งข้อมูลสมมติฐานเชิงคุณภาพของผู้รับคำปรึกษาแต่ละคน ย่อมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเป้าหมาย รูปแบบการดำเนินชีวิตในช่วงหลังเกษียณ และข้อสมมติฐานเชิงปริมาณ ที่จำเป็นสำหรับในการจัดทำแผน เป็นข้อมูลที่ใช้ในการประมาณการจำนวนเงินที่ต้องการเมื่อเกษียณอายุ โดยใช้หลักการของมูลค่าเงินตามเวลา ข้อมูลเชิงปริมาณที่จำเป็น ประกอบด้วยอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน อัตราภาษีเงินได้ อัตราเงินเฟ้อ อัตราส่วนเงินได้ที่ต้องการเมื่อเกษียณอายุ เทียบกับเงินได้ในช่วงก่อนเกษียณอายุที่คาดว่าจะเกษียณ จำนวนปีก่อนถึงวัยเกษียณ จำนวนปีที่คาดว่าจะอยู่หลังเกษียณ เป็นต้น
2.3 การประมาณการเงินได้ที่ต้องการเผื่อวัยเกษียณ การประมาณการเงินได้ที่ต้องการ จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต ในช่วงหลังเกษียณอายุนั้น สามารถประมาณการได้ 2 วิธีคือ การประมาณการจากเงินได้ที่ได้รับในปัจจุบัน และการประมาณการจากค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายในปัจจุบัน ซึ่งจำนวนเงินที่ได้จากการประมาณการนี้ เป็นจำนวนเงินที่ต้องการให้ผู้รับคำปรึกษา สามารถดำรงสภาพความเป็นอยู่ภายหลังเกษียณได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ตั้งแต่ปีแรกของการเกษียณ
2.4 การรวบรวมข้อมูลแหล่งการเงินเพื่อเกษียณ ผู้วางแผนการเงินต้องรวบรวมข้อมูลทรัพย์สินต่าง ๆ รวมถึงแหล่งรายได้ที่ผู้รับคำปรึกษามีอยู่ หรือวางแผนจะมีในอนาคต และพิจารณาว่าทรัพย์สินใดบ้าง ที่ผู้รับคำปรึกษาจะสามารถนำไปใช้เป็นเงินทุน ในการดำเนินชีวิตในช่วงหลังเกษียณอายุได้ ซึ่งการจัดทำงบการเงินบุคคลและงบกระแสเงินสด จะมีส่วนช่วยให้การวางแผนสะดวกขึ้น
ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำประมาณการทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ
เป็นการนำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มารวบรวม ในขั้นตอนนี้ค่อนข้างจะเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อน และมีเรื่องของการคำนวณเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก นักวางแผนทางการเงินจะต้องมีความเข้าใจในหลักการของมูลค่าเงินตามเวลาอย่างถ่องแท้ รวมถึงต้องมีความชำนาญในการใช้เครื่องคำนวณทางการเงิน เพื่อมาใช้ในการคำนวณหาส่วนขาด ส่วนเกินตามสมมติฐานที่กำหนดไว้ สำหรับการจัดทำแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ และผลที่ได้จะทำให้ทราบว่า ผู้รับคำปรึกษาจะต้องออมเพิ่มปีละเท่าใด จึงจะมีเงินได้เพียงพอตลอดการเกษียณตามที่กำหนดไว้ ซึ่งขั้นตอนในการจัดทำมีดังนี้
3.1 การแสดงข้อสมมติฐานเชิงปริมาณ การนำข้อมูลจากข้อสมมติฐานเชิงปริมาณมาใช้ประกอบการจัดทำประมาณการทางการเงินเพื่อเกษียณ ซึ่งประกอบไปด้วยอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังในช่วงก่อนเกษียณและหลังเกษียณ อัตราเงินเฟ้อ อัตราร้อยละของรายได้ที่ต้องการหลังเกษียณ อัตราการเพิ่มของรายได้ อายุที่คาดว่าจะเกษียณ จำนวนปีก่อนเกษียณ และจำนวนปีที่คาดว่าจะอยู่ภายหลังเกษียณ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐาน สำหรับการคำนวณจำนวนเงินที่ต้องการเมื่อเกษียณ
3.2 การแสดงวิธีการคำนวณการประมาณการเงินได้ที่ต้องการเมื่อเกษียณ การประมาณการจำนวนเงินที่ต้องการเมื่อเกษียณอายุ โดยวิธีการคำนวณจากเงินได้นั้น ผู้วางแผนจะต้องประมาณการ เพื่อหารายได้ปีสุดท้ายก่อนเกษียณของผู้รับคำปรึกษาก่อน ด้วยการประมาณการจากรายได้ในปัจจุบัน ประมาณการว่าค่าใช้จ่ายต่อปีนั้นจะเป็นจำนวนเท่าใด โดยประมาณการจากค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งวิธีการประมาณการนั้น นักวางแผนทางการเงินจะต้องเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายแยกทีละประเภท
3.3 การแสดงวิธีการคำนวณมูลค่าแหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณอายุ ทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่อยู่ภายใต้สมมุติฐานว่า จะถูกนำมาใช้เป็นเงินทุนเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์การเงินในปัจจุบันว่า จะมีมูลค่าเท่าใดเมื่อเกษียณอายุนั้น จะให้หลักการในการคำนวณเช่นเดียวกันกับการหามูลค่าเงินในอนาคต เพื่อให้ง่ายต่อการประมาณการ ควรแยกคำนวณทีละประเภท ซึ่งจะช่วยทำให้ง่ายต่อการประมาณมูลค่า
3.4 การแสดงส่วนขาดส่วนเกินของแหล่งเงินออมเพื่อวัยเกษียณ เป็นการนำผลจากการคำนวณในกระดาษ ซึ่งเป็นกระดาษทำการที่ใช้คำนวณหาเงินได้ ที่ต้องการเมื่อเกษียณอายุต่อปี โดยให้เลือกมาเพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง มาเป็นจำนวนเงินได้หลายปี ที่ต้องการเมื่อเกษียณปีแรก
3.5 การแสดงจำนวนเงินที่ต้องออมเพิ่มเพื่อบรรลุเป้าหมายการเงินเพื่อวัยเกษียณ ในกรณีที่ผลจากการคำนวณในกระดาษ มีผลสุทธิเป็นส่วนขาด ในส่วนนี้จึงเป็นการคำนวณเพื่อต้องการหาจำนวนเงินที่ต้องออมเพิ่มเป็นรายปี ปีละเท่าใดจึงจะทำให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งจำนวนเงินที่ต้องออมเพิ่มในแต่ละปี จะต้องเหมาะสมและอยู่ในศักยภาพที่สามารถทำได้
ขั้นตอนที่ 4 การนำเสนอสรุปผลวิเคราะห์ทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ
ในขั้นตอนนี้ผู้วางแผนจะนำเสนอข้อมูลที่สรุปได้จากผลการดำเนินการ เป็นการชี้ให้ผู้รับคำปรึกษาเห็นถึงประเด็น ที่เป็นผลจากการจัดทำประมาณการ รวมถึงการแนะนำในส่วนของการออม การลงทุนที่ควรเปลี่ยนแปลง โดยคำนึงถึงผลตอบแทน ความเสี่ยง สภาพคล่อง และผลประโยชน์ทางภาษี สถานการณ์ จุดประสงค์และเป้าหมายของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป
หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้วางแผนการเงินคือ การทำให้ผู้รับคำปรึกษาบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ จากการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และให้คำแนะนำ ต้องพิจารณาถึงการควบคุมและการเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ ที่ผู้รับคำปรึกษาต้องการผู้รับคำปรึกษา บางคนอาจชอบที่จะให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเข้ามาดูมาจัดการ แต่บางคนอาจต้องการจัดการทรัพย์สินที่มีด้วยตนเอง ในการนำเสนอคำแนะนำผู้วางแผนการเงิน ต้องนำเสนอถึงประเภทของการลงทุน ผลตอบแทน ค่าใช้จ่ายในการลงทุนแต่ละประเภท ความเสี่ยงและผลกระทบทางภาษีของแต่ละคำแนะนำด้วย
ขั้นตอนที่ 5 การดำเนินการตามแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ
การจัดทำแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ในขั้นตอนนี้เป็นการดำเนินการตามแผน และทางเลือกจากการที่ได้มีการรวบรวมข้อมูล จัดทำประมาณการทางการเงิน วิเคราะห์และสรุปผล ผู้วางแผนการเงินต้องพิจารณาการใช้ความรู้ และข้อมูลของการวางแผนการเงิน ซึ่งประกอบด้วยการออม การประกันภัย การลงทุน กระแสเงินสดเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ อีกทั้งต้องมีความเข้าใจถึงความแตกต่างของความเสี่ยง และลักษณะของผลตอบแทน ประเด็นสำคัญของกระบวนการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณคือ การจัดการให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของผู้รับคำปรึกษา โดยคำนึงถึงแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ บทบาทของผู้วางแผนการเงิน และการร่วมกันทำงานของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน
ขั้นตอนที่ 6 การติดตามทบทวนแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ
เนื่องจากเป็นการวางแผนระยะยาว มีทั้งปัจจัยและข้อสมมติฐานหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง และส่งผลกระทบ ซึ่งปัจจัยและข้อสมมติฐานเหล่านี้ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดในช่วงก่อนเกษียณ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเป็นการโยกย้ายงาน การไม่มีงานทำ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของรายได้ การเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพ เนื่องจากการโยกย้ายถิ่น นอกจากนี้ยังต้องรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจโดยรวม และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีผลกระทบต่อการคำนวณ และเป้าหมายของแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณทั้งสิ้น การมีการทบทวนแผนการเงินเป็นประจำจึงเป็นสิ่งจำเป็น และการทบทวนแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ อาจส่งผลกระทบไปยังแผนการเงิน และหลักทรัพย์การเงินอื่น ๆ
สรุป
กระบวนการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ มีความสำคัญต่อความเป็นอิสระคือ การเงินและความเป็นอยู่อย่างพอเพียงในวัยเกษียณ ซึ่งในกระบวนการนั้นประกอบด้วย 6 ขั้นตอนคือ การสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับคำปรึกษา การรวบรวมข้อมูล การจัดการประมาณการทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ การนำเสนอสรุปผลการวิเคราะห์และคำแนะนำ การดำเนินการตามแผนและการติดตามทบทวน
ในขั้นตอนของการสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับคำปรึกษา ต้องทำให้ผู้รับคำปรึกษามีความไว้วางใจ สำหรับการเปิดเผยทั้งข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการเงิน เพื่อให้ประโยชน์ในการดำเนินการในขั้นตอนที่ 2 คือ การรวบรวมข้อมูล โดยผู้วางแผนทางการเงินต้องมีการร่วมกัน กำหนดข้อสมมุติฐานที่เหมาะสม เพื่อให้การจัดทำแผนเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ สำหรับขั้นตอนในการจัดทำประมาณการทางการเงินเพื่อวัยเกษียณนั้น เพื่อให้ทราบถึงจำนวนเงินได้ที่ต้องการในระหว่างเกษียณ และจำนวนที่ต้องเก็บออมรายปี โดยการรวบรวมข้อมูลหลักทรัพย์ทางการเงิน ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคต
การนำเสนอสรุปผลการวิเคราะห์และคำแนะนำ เพื่อการชี้แนะให้ผู้รับคำปรึกษาได้มองเห็นผลการวิเคราะห์ และผู้วางแผนการเงินต้องให้คำแนะนำในส่วนของผลกระทบทุกด้าน ที่อาจเกิดจากการลงทุนแต่ละประเภท โดยมีจุดประสงค์หลักคือการบรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของผู้รับคำปรึกษา อย่างไรก็ตาม การวางแผนการเงินเพื่อเกษียณเป็นการวางแผนระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนแผนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แผนบรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการเมื่อถึงวัยเกษียณ.