การตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม

ความเป็นมาของกองทุนรวม

แม้ว่าจะมีการจัดตั้งกองทุนรวมขึ้นในประเทศไทย มานานพอ ๆ กับการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ในระยะแรกกองทุนรวมยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่าไหร่นัก จนกระทั่งมีการจัดตั้ง พ.ร.บ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ 2535 พร้อมกับอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมเพิ่มขึ้นใหม่รวมเป็น 7 แห่ง คนไทยจึงเริ่มรู้จักกองทุนรวมมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างปี 2538 ถึง 2540  ธุรกิจกองทุนรวมได้ซบเซาลงเช่นเดียวกับธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน และการลงทุนประเภทอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ธุรกิจกองทุนรวมได้มีการขยายตัวขึ้นอีกครั้ง และในปัจจุบันได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการลงทุนประเภทหนึ่ง ที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจมากขึ้น

สาเหตุที่เลือกลงทุนในกองทุนรวม

ปัจจุบันคนไทยยอมรับว่ากองทุนรวมเป็นช่องทางการลงทุนที่น่าสนใจ และมีการตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หากพิจารณาจากมุมมองของผู้ลงทุนอาจกล่าวได้ว่า มีมูลเหตุจูงใจให้มีการลงทุนในกองทุนรวมดังนี้

2.1 ความต้องการผลตอบแทนที่ดี ความต้องการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมของผู้ลงทุนมีสาเหตุหลักอยู่ 2 ประการคือ 

2.1.1 ความต้องการเพิ่มผลตอบแทน จากการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของเงินลงทุน ยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับปานกลางถึงสูง ตัวอย่างของกองทุนรวมที่มีผู้ลงทุนกลุ่มนี้เลือกได้แก่ กองทุนรวมตราสารแห่งทุน กองทุนรวมผสม กองทุนรวมเพื่อลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น

2.1.2 ความต้องการเพิ่มผลตอบแทน เพื่อทดแทนการฝากเงินที่ให้ผลตอบแทนน้อยลง นับตั้งแต่ปี 2541 ทำให้ผลตอบแทนจากการฝากเงินไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ฝากเงินจำนวนมากจึงหันมาลงทุนในกองทุนรวม ที่มีความมั่นคงและมีความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้มากขึ้น เช่น กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น กองทุนรวมมีประกัน เป็นต้น

2.2 กองทุนรวมสามารถลงทุนในส่วนที่ผู้ลงทุนทำเองไม่ได้ เนื่องจากกองทุนรวมเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุนหาผลตอบแทนโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับสิทธิในการลงทุนหลายอย่าง ที่ผู้ลงทุนเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลทำไม่ได้ หรือทำได้แต่มีข้อจำกัด เช่น การนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง การลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ เป็นต้น 

2.3 การลงทุนในกองทุนรวมมีความสะดวกมากขึ้น ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การซื้อขายกองทุนรวมในปัจจุบันมีความสะดวกมากขึ้นกว่าเดิม ที่ต้องไปซื้อขายที่บริษัทจัดการ หรือตัวแทนขายที่ได้รับแต่งตั้งเท่านั้น มีวิธีซื้อขายได้เพิ่มมากขึ้น เช่น ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์ ซื้อโดยการใช้บัตรเครดิต สำหรับกองทุนบางกองตัวแทนขายที่มีเพิ่มมากขึ้น หรือการขอให้บริษัทจัดการหักบัญชีซื้อกองทุนรวมแบบอัตโนมัติเป็นรายเดือน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้มีผู้ลงทุนในกองทุนรวมเพิ่มขึ้น

2.4 ความเชื่อมั่นต่อธุรกิจกองทุนรวม ผู้ลงทุนในปัจจุบันมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น มีการศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินลงทุนมากกว่าแต่ก่อน ประกอบกับหน่วยงานต่าง ๆ ทางผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกองทุนรวมและหน่วยงานกลาง มีการเผยแผ่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกองทุนรวมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ลงทุนมีความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนรวมมากขึ้น และตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น

2.5 ความต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี และเงินลงทุนในกองทุนรวม ปัจจุบันมีการใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือ ในการระดมเงินเพื่อวัตถุประสงค์ด้านต่าง ๆ เช่น เพื่อการออมไว้ใช้ในวัยเกษียณ ผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และเพื่อเพิ่มเสถียรภาพในตลาดทุนของประเทศ ผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีคือ บุคคลธรรมดาที่ลงทุนในกองทุนรวมทั้ง 2 ประเภท สามารถนำเงินลงทุนไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้ตามข้อกำหนด ทำให้ผู้เสียภาษีจำนวนมากหันมาลงทุนในกองทุนรวม เพื่อวัตถุประสงค์ในการลดหย่อนภาษี

หลักการเลือกลงทุนในกองทุนรวม

เนื่องจากกองทุนรวมในปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมาก และมีกองทุนรวมแบบใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา อีกทั้งวัตถุประสงค์การลงทุนของผู้ลงทุนแต่ละคนก็อาจแตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนเลือกลงทุนในกองทุนรวมแต่ละครั้ง ผู้ลงทุนควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ต้องการลงทุนเพื่ออะไร แล้วควรทำความเข้าใจกับกองทุนรวมแต่ละประเภทด้วยว่าเป็นอย่างไร เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนหรือไม่ จึงสรุปภาพรวมหลักการเลือกกองทุนรวมได้ดังนี้

3.1 การกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงิน สิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อนเลือกว่าจะนำเงินที่มีไปลงทุนอย่างไร หรือลงทุนในกองทุนรวมประเภทไหนคือ การแบ่งเงินออกเป็นส่วนต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของการเก็บและการใช้ เพื่อให้สามารถเลือกลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม โดยทั่วไปสามารถแบ่งเงินได้เป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้ คือ

3.1.1 เงินเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต หมายถึงเงินที่จำเป็นต้องเก็บไว้ใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละวันของทั้งตนเองและครอบครัว ซึ่งสามารถเริ่มต้นการทำบัญชีรับจ่าย เพื่อรวบรวมข้อมูลในปัจจุบัน และทำประมาณการรายรับและการใช้จ่ายในอนาคตว่า เงินส่วนนี้แต่ละเดือนควรมีประมาณเท่าไหร่ นอกจากนี้เงินเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายเพื่อการสันทนาการ เป็นต้น และยังรวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายประจำเดือน แต่ต้องจ่ายแน่นอนเพื่อการดำรงชีวิตด้วย เช่น ค่าเทอมการศึกษาของบุตร เป็นต้น

3.1.2 เงินเพื่อใช้กรณีฉุกเฉิน เงินส่วนนี้คือเงินออมที่จำเป็นต้องเตรียมไว้ใช้ในกรณีที่ไม่คาดคิด และไม่สามารถคาดการณ์ได้ทั้งของตนเองและครอบครัว เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกรณีตกงาน เงินส่วนนี้จะไม่สามารถคาดเดาได้ว่า จำเป็นต้องใช้เท่าไหร่และต้องเก็บเท่าไหร่ ทั้งนี้ขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละคน เช่น มีการทำประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพไว้ อย่างไรก็ตาม เงินส่วนนี้อย่างน้อยควรเก็บไว้ให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันประมาณ 3-6 เดือน เพื่อสำหรับกรณีตกงานและไม่มีรายได้

3.1.3 เงินเพื่อลงทุนตามวัตถุประสงค์ต่างๆ เงินส่วนนี้คือเงินออมที่เหลือจากส่วนแรกและส่วนที่ 2 ซึ่งต้องจัดสรรให้ชัดเจนว่า เป็นเงินลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์ใด เพื่อให้สามารถเลือกลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารต่าง ๆ ได้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการเก็บเงินก้อนนั้น ๆ ตัวอย่าง เงินลงทุนที่มีกำหนดระยะเวลาการใช้ที่ชัดเจน เช่น เงินเก็บเพื่อใช้ซื้อบ้าน ซื้อรถ เพื่อการศึกษาของตนเองหรือบุตร เป็นต้น เงินลงทุนเพื่อเก็บไว้ใช้ยามเกษียณอายุ เงินลงทุนส่วนที่เหลือและยังไม่มีวัตถุประสงค์การใช้ที่ชัดเจน เป็นต้น

พิจารณานโยบายเพื่อเลือกลงทุน

ปัจจุบันกองทุนรวมมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านนโยบายการลงทุน และรูปแบบของกองทุนที่มีบริษัทจัดการต่าง ๆ พยายามออกแบบให้ดูน่าสนใจ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุน ทำให้ปัจจุบันมีกองทุนรวมออกมาเสนอขายกับผู้ลงทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ก่อนลงทุนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่า นโยบายการลงทุนของกองทุน และรูปแบบของกองทุนในแต่ละกองนั้นเป็นอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน และตัดสินใจลงทุนผิดพลาดจากความเข้าใจผิด

4.1 การพิจารณาตามประเภทและนโยบายการลงทุน ประเภทของกองทุนแบบเดียวกัน จะมีนโยบายหลักของการลงทุนที่เหมือนหรือต่างกันขึ้นอยู่กับว่า กองทุนรวมนั้นจะนำเงินของผู้ถือหน่วยลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ประเภทใด ซึ่งเป็นปัจจัยบ่งบอกถึงระดับความเสี่ยง และผลตอบแทนที่มีโอกาสได้รับว่า มีมากหรือน้อยแค่ไหน ตัวอย่างเช่น กองทุนรวมตราสารแห่งทุน มีนโยบายหลักของการลงทุนที่ต้องลงทุนในตราสารทุน เฉลี่ยใน 1 รอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 มีระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังสูงกว่ากองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ ที่มีนโยบายหลักคือลงทุนได้เฉพาะเงินฝาก และตราสารหนี้เท่านั้น เป็นต้น

4.2 การพิจารณาตามเงื่อนไข ปัจจุบันบริษัทจัดการต่าง ๆ มีเงื่อนไขพิเศษที่ผู้ลงทุนควรศึกษา และทำความเข้าใจว่าเงื่อนไขเหล่านั้นเหมาะสมกับตนเองหรือไม่ โดยตัวอย่างเงื่อนไขกองทุนรวมที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น คือ

4.2.1 การจ่ายคืนผลตอบแทนระหว่างลงทุน โดยทั่วไปผู้ลงทุนจะได้รับเงินคืนจากการลงทุนในกองทุนรวม 2 รูปแบบคือ เมื่อกองทุนรวมมีการจ่ายเงินปันผล หรือผู้ลงทุนทำการขายคืนหน่วยลงทุน แต่เนื่องจากเงินปันผลที่ผู้ถือหน่วยที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับ จะต้องนำไปคำนวณรวม เพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี หรือยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ทำให้ได้รับเงินไม่ครบตามผลตอบแทนที่กองทุนจ่าย 

4.2.2 ปัจจุบันมีกองทุนรวมจำนวนมาก ที่กำหนดระยะเวลาการลงทุนไว้ชัดเจน และผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนกับกองทุนได้ ซึ่งผู้ลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้ จำเป็นต้องพิจารณาสภาพคล่องทางการเงินของตนเองให้ดีว่า เหมาะสมกับระยะเวลาลงทุนหรือไม่

4.2.3 เงื่อนไขการซื้อเพิ่มหรือขายคืนหน่วยลงทุน และการรับเงินคืนเมื่อขายคืนหน่วยลงทุน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องจากการลงทุน ป้องกันความเข้าใจผิดโดยเฉพาะเงื่อนไขการขายคืน เนื่องจากปัจจุบันกองทุนเปิดหลายกองทุนไม่ได้เปิดให้มีการซื้อขายทุกวัน เพื่อให้สอดคล้องกับตราสารที่ลงทุน และแนวทางการบริหารกองทุนที่บริษัทจัดการแต่ละแห่งออกแบบไว้ 

4.2.4 ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของกองทุนรวม โดยปกติกองทุนรวมตราสารแห่งทุน และกองทุนรวมผสมจะมีค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการสูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ เพราะตราสารทุนจะมีความผันผวนของราคามากกว่า ผู้จัดการกองทุนจึงจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวและราคาของตราสารทุนนั้นอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา 

4.2.5 เงื่อนไขอื่น ๆ ที่ควรนำมาพิจารณาคือเรื่องความสะดวก เช่น วิธีการซื้อขายหน่วยลงทุนที่ช่องทางใดได้บ้าง มีค่าธรรมเนียมในการใช้บริการหรือไม่ ตัวแทนขายหน่วยลงทุนของกองทุนนั้นเป็นใคร ผู้ลงทุนสะดวกในการติดต่อซื้อขายหรือไม่ การโอนเงินค่าขายคืนหรือเงินปันผลของกองทุน สามารถโอนเข้าบัญชีของธนาคารใดได้บ้าง และมีบริการใดเพิ่มเติมให้ผู้ลงทุนบ้าง เป็นต้น

กองทุนรวมที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้เงินแบบต่าง ๆ

เมื่อตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม ผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายการลงทุนเช่นเดียวกับการลงทุนรูปแบบอื่น ๆ นอกจากนี้เงินลงทุนที่นำมาใช้นั้น ก็ควรสอดคล้องหรือมีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนเช่นกัน เพื่อลดโอกาสในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่อง 

5.1 กองทุนรวมที่เหมาะกับเงินเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต เป็นเงินที่จำเป็นต้องใช้แน่นอน บางส่วนจำเป็นต้องใช้เป็นประจำทุกวัน เงินส่วนนี้จึงควรเก็บไว้ในรูปแบบหลักทรัพย์ หรือตราสารที่มีความมั่งคั่งและสภาพคล่องสูง สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น เงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมที่มีสภาพคล่องสูง และมีความเสี่ยงต่ำมาก เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น เป็นต้น

5.2 กองทุนรวมที่เหมาะกับเงินเพื่อใช้กรณีฉุกเฉิน เป็นเงินที่เตรียมไว้ใช้ในกรณีที่ไม่คาดคิด แต่ยังไม่ทราบวัตถุประสงค์การใช้ และเวลาที่ต้องใช้แน่นอน เงินส่วนนี้จึงควรเก็บไว้ในรูปแบบทรัพย์สิน ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ง่าย มีสภาพคล่องสูงและมีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น เป็นต้น

5.3 กองทุนรวมที่เหมาะกับเงินเพื่อลงทุนตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เป็นเงินส่วนที่สามารถนำมาลงทุนในกองทุนได้หลากหลายประเภทมากกว่าเงิน 2 ส่วนแรก เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง ทั้งนี้สัดส่วนของเงินที่จะนำไปลงทุนในกองทุนแต่ละประเภท จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการใช้เงินในอนาคตว่า มีระยะห่างจากปัจจุบันนานเท่าใด ซึ่งจะสัมพันธ์กับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้  กองทุนที่เหมาะสม เช่น กองทุนตราสารแห่งทุน กองทุนแบบผสม กองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะยาว รวมไปถึงกองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นต้น แต่ระยะเวลาการใช้เงินเหลืออีกไม่มาก กองทุนที่เหมาะสมคือกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะยาว เป็นต้น

กรณีศึกษาการลงทุนที่ 1

เมื่อนักลงทุนมีอายุ 25 ปี ทำงานบริษัทเอกชน มีเงินเดือนประจำ มีเงินเก็บส่วนหนึ่ง และมีแผนจะแต่งงานในอีก 2 ปีข้างหน้า

การวิเคราะห์

กรณีนี้นักลงทุนยังมีอายุน้อย อยู่ในวัยเริ่มต้นทำงาน ยังมีเวลาทำงานเก็บเงินได้อีกนาน สามารถรับความเสี่ยงได้มาก กองทุนรวมที่ควรเลือกลงทุนควรมีสัดส่วนดังนี้

6.1 กองทุนรวมที่เหมาะกับเงินเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต

6.1.1 เงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ 50%

1.1.2 กองทุนรวมตลาดเงิน 50%

6.2 กองทุนรวมที่เหมาะกับเงินออมเพื่อใช้กรณีฉุกเฉิน

6.2.1 กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ 70%

6.2.2 กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น 30%

6.3 กองทุนรวมที่เหมาะกับเงินออม เพื่อลงทุนตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น ลงทุนเพื่อเก็บเงินแต่งงาน การลงทุนเพื่อใช้ยามเกษียณ เป็นต้น

6.3.1 กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะยาว 40 เปอร์เซ็นต์

6.3.2 กองทุนรวมตราสารแห่งทุน 35%

6.3.3 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ลงทุนในตราสารทุนหรือแบบผสม 10%

6.3.4 กองทุนรวมหุ้นระยะยาว 10%

6.3.5 กองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ 5%

  1. กรณีศึกษาที่ 2

หากนักลงทุนมีอายุ 55 ปี ทำงานบริษัทเอกชน มีเงินเดือนประจำ ภรรยาเป็นแม่บ้าน มีบุตร 1 คนกำลังศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี และมีแผนจะเกษียณอายุ 60 ปี

การวิเคราะห์

กรณีนี้นักลงทุนมีอายุ 55 ปี อยู่ในวัยใกล้เกษียณและมีเวลาทำงานหาเงินน้อยลง ความมั่นคงของเงินลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการสร้างผลตอบแทนสูง ๆ ซึ่งสามารถรับความเสี่ยงได้น้อย ดังนั้นกองทุนรวมที่ควรเลือกลงทุนควรมีสัดส่วนดังนี้

7.1กองทุนรวมที่เหมาะกับเงินเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต

7.1.1เงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ 80%

7.1.2 กองทุนรวมตลาดเงิน 20%

7.2 กองทุนรวมที่เหมาะกับเงินออมเพื่อใช้กรณีฉุกเฉิน

7.2.1 กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น 50%

7.2.2 กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ 50%

7.3 กองทุนรวมที่เหมาะกับเงินออม เพื่อลงทุนตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การลงทุนเพื่อใช้ยามเกษียณ เป็นต้น

7.3.1 กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ 50%

7.3.2 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ลงทุนในตราสารแห่งหนี้ 25%

7.3.3 กองทุนรวมตราสารแห่งทุน 20%

7.3.4 กองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ 5%

การติดตามการลงทุน

ภายหลังจากลงทุนในกองทุนรวมแล้ว ผู้ลงทุนควรติดตามดูว่าการลงทุนเป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ ผลตอบแทนเป็นอย่างไร ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่ รวมไปถึงติดตามว่ากองทุนรวมที่ลงทุน มีการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อแผนการลงทุนหรือไม่อย่างไร เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น หากผลการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

8.1 สิ่งที่ต้องติดตามภายหลังการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน จะมีการเผยแพร่รายงานผลการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนรวมนี้ จะสามารถบอกให้ทราบว่ากองทุนรวมที่ได้ลงทุนอยู่นั้น สามารถสร้างผลตอบแทนหรือมีความเสี่ยงเป็นอย่างไร ตลอดจนในช่วงของการลงทุนได้เกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติม ขายหน่วยลงทุน หรือการสับเปลี่ยนการลงทุนในกองทุนรวม

8.2 ผลตอบแทนจากการลงทุน ผู้ลงทุนควรติดตามว่าให้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร โดยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน ผู้ลงทุนควรเปรียบเทียบ 2 ส่วนคือ เปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่ตนเองคาดหวังไว้ และเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของกองทุนรวมแต่ละประเภท ทั้งนี้ผู้ลงทุนควรให้ระยะเวลากับผู้จัดการกองทุนในการบริหารงานสักระยะหนึ่ง เนื่องจากการลงทุนในกองทุนรวมเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งทำให้ผลการดำเนินงานในช่วงนั้น อาจจะมีความผันผวนไปบ้าง

8.3 การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในโครงการของกองทุนที่ลงทุนไว้ ในบางครั้งกองทุนรวมอาจมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกองทุน ซึ่งมีทั้งการเปลี่ยนแปลงจากความประสงค์ของบริษัทจัดการ ผู้บริหารกองทุนนั้น ๆ หรือเปลี่ยนแปลงเนื่องจากหลักเกณฑ์ลงทุนตามกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบริษัทจัดการจะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ลงทุนทราบอีกครั้ง 

8.4 ข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทจัดการ เมื่อผู้ลงทุนเป็นลูกค้าของบริษัทจัดการจะได้รับเอกสารแจ้งข้อมูลต่าง ๆ ให้ทราบเป็นระยะ ทั้งในรูปแบบของจดหมาย และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดตามข่าวสารใหม่ ๆ ข้อมูลลงทุนต่าง ๆ และความคืบหน้าของการลงทุนได้จากเอกสารดังกล่าว

8.5 การอ่านรายงานผลการลงทุน บริษัทจัดการจะจัดส่งรายงานผลการลงทุนของกองทุนรวม ให้ผู้ลงทุนทราบเป็นประจำทุก 6 เดือน อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ บริษัทจัดการส่วนใหญ่จะจัดส่งรายงานผลการลงทุนให้ผู้ลงทุนทราบเป็นประจำทุกเดือน ในรูปแบบของเอกสารการรายงานผลการดำเนินงานของกองทุน หรือที่เรียกว่า fund fact sheet และรายงานการเคลื่อนไหวของหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ผู้ลงทุนมีอยู่ ดังนั้นประเด็นที่ควรจะให้ความสำคัญ สามารถสรุปได้ดังนี้

8.5.1 ในเอกสารรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนรวม หรือ fund fact sheet ที่ผู้ลงทุนจะได้รับนั้น มีสาระสำคัญที่ควรติดตามคือ

8.5.1.1 ผลการดำเนินงานย้อนหลังในช่วงที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานในช่วงระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุน เพื่อดูว่าผลงานการบริหารกองทุนในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานและเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้หรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับเปลี่ยนการลงทุน ให้มีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น

8.5.1.2 สัดส่วนการลงทุนในตราสารแต่ละประเภท ณ วันที่ระบุไว้ใน fund fact sheet โดยระบุชัดเจนว่า กองทุนรวมมีการลงทุนเป็นสัดส่วนเท่าใดในตราสารหลัก เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้ เป็นต้น โดยเฉพาะกองทุนแบบผสม สัดส่วนการลงทุนในตราสารจะบอกให้ทราบว่า ปัจจุบันผู้จัดการกองทุนมีการลงทุนแบบใด เหมาะสมกับความต้องการที่ตั้งใจไว้หรือไม่

8.5.1.3 สัดส่วนของกลุ่มหลักทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ที่มีการลงทุนมากที่สุด 5-10 อันดับแรก ณ วันที่ระบุไว้ใน fund fact sheet เพื่อดูว่าตราสารหรือหลักทรัพย์ใด หรือกลุ่มใดที่ผู้จัดการกองทุนให้น้ำหนักในการลงทุนมากที่สุด สอดคล้องกับสภาวการณ์ลงทุนหรือไม่ และการกระจายความเสี่ยงเหมาะสม และเป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่บอกไว้หรือไม่

8.6 เอกสารเพื่อแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบว่า ณ วันที่รายงานผู้ลงทุนมีจำนวนหน่วยลงทุนอยู่ที่เท่าไหร่ คิดเป็นมูลค่าของเงินลงทุนในกองทุนรวมจำนวนเท่าใด และในช่วงเวลาที่ผ่านมาหน่วยลงทุนมีการเคลื่อนไหวจากการซื้อเพิ่ม ขายคืน สับเปลี่ยนเข้า หรือออกอย่างไรบ้าง

8.7 การปรับเปลี่ยนการลงทุนในกองทุนรวม แม้ว่าควรเป็นการลงทุนในระยะยาว แต่ผู้ลงทุนก็สามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ ได้โดยการปรับเปลี่ยนการลงทุนอาจเป็นการปรับเพิ่ม-ลดจำนวนเงินลงทุนในกองทุนรวม การปรับเปลี่ยนเฉพาะสัดส่วนการลงทุนในกองทุนแต่ละประเภท หรือดำรงสัดส่วนการลงทุนในกองทุนแต่ละประเภทไว้ แต่เปลี่ยนกองทุนที่ลงทุนใหม่

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนการลงทุนในกองทุนรวม ผู้ลงทุนควรปรับเปลี่ยนภายใต้หลักการลงทุนที่กำหนดไว้ โดยยึดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการลงทุนได้แก่

8.7.1 ปรับเปลี่ยนเมื่อความคาดหวังของผู้ลงทุนเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลตอบแทน หรือความมั่นคงของเงินลงทุน

8.7.2 ปรับเปลี่ยนเมื่อต้องการเพิ่ม ยกเลิก หรือลดการลงทุนในบางกองทุน

8.7.3 ปรับเปลี่ยนเมื่อนโยบายของกองทุนที่ลงทุนเปลี่ยนแปลงไป

ในบทนี้พอจะสรุปออกมาได้ว่า การตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม ผู้ที่ไม่มีเวลาหรือมีเงินไม่มากก็สามารถลงทุนได้ เพราะเป็นการให้นักลงทุนรายย่อยรวมเงินกัน และมีผู้จัดการกองทุนผู้มีความรู้ความชำนาญคอยบริหารให้ จึงมีข้อดีต่าง ๆ มากมาย แต่ต้องพิจารณานโยบายเพื่อเลือกลงทุนให้ดี ให้เกิดความเหมาะสมกับตัวนักลงทุนมากที่สุด.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *