การลงทุนและการวางแผนการลงทุน

ความหมายและความสำคัญ

การลงทุนเป็นกระบวนการที่ผู้ลงทุน นำเงินที่ชะลอจากการใช้จ่ายในวันนี้ไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหลักทรัพย์ หรือตราสารการเงินประเภทต่าง ๆ เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือวิธีการอื่น ๆ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ได้รับกระแสเงินสดจากการลงทุนนั้น ๆ และมุ่งหวังให้หลักทรัพย์หรือตราสารการเงินที่ได้ลงทุนไปมีมูลค่าสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนค่าเสียโอกาส ที่มิได้ใช้จ่ายเงินในวันนี้ และเพื่อชดเชยอำนาจซื้อที่สูญเสียไป เนื่องจากสภาวะเงินเฟ้อ และชดเชยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือตราสารการเงินตลอดช่วงระยะเวลาลงทุน 

ในขณะที่การวางแผนการลงทุน เป็นกระบวนการของการกำหนดกลยุทธ์ และแผนการปฏิบัติการลงทุน เพื่อให้การลงทุนได้รับผลตอบแทนบรรลุตามเป้าหมายทางการเงินที่กำหนดไว้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้น การวางแผนการลงทุนจึงเป็นกระบวนการวางแผนทางการเงินที่มีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการวางแผนเพื่อการเกษียณ และการวางแผนเพื่อการศึกษาบุตร เป็นต้น

ทำไมต้องลงทุน

ในการลงทุนอย่างถูกวิธี และมีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง จะช่วยให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น และสร้างความมั่งคั่งได้รวดเร็วขึ้น การลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างดี จะช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนของผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น

ตัวอย่างที่ 1 

หากต้องการมีเงินจำนวน 400,000 บาท สำหรับเป็นเงินดาวน์ซื้อรถยนต์คันใหม่ในอีก 5 ปี โดยตั้งใจที่จะออมเงินกับธนาคารพาณิชย์ทุก ๆ สิ้นปีปีละ 50,000 บาท ซึ่งในขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 3.5% ดังนั้น เมื่อครบ 5 ปีจะมีจำนวนเงินเท่าใด ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำเช่นนี้คือ การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์เมื่อครบ 5 ปี จะมีเงินเพียง 268,123 บาทเท่านั้น

ตัวอย่างที่ 2 

เมื่อต้องการเงิน 400,000 เช่นเดียวกัน แต่หากได้เข้าไปปรึกษากับนักวางแผนทางการเงิน ซึ่งนักวางแผนการเงินได้ดำเนินการดังนี้ คือ

  • ได้มีการคำนวณหาอัตราผลตอบแทน ที่จะทำให้รู้เป้าหมายการลงทุน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 23.69 ต่อปี
  • ได้ทำการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในการลงทุน ซึ่งพบว่าสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง
  • ได้ทำการประเมินสภาวะตลาด และวิเคราะห์ระดับความเสี่ยง พบว่าอัตราผลตอบแทนที่ต้องการปีละ 23.69 ต่อปีสามารถทำได้ โดยแนะนำให้ลงทุนในหุ้นสามัญ 70% พันธบัตร 25% และเงินฝาก 5% และมีอัตราผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ 24% ต่อปี ผลลัพธ์ที่ได้จะเห็นว่าสามารถบรรลุตามเป้าหมายการลงทุนเมื่อครบ 5 ปี โดยจะมีเงินจำนวน 402,422 บาท ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการจำนวน 400,000 บาท 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตัวอย่างที่ 1 และ 2 แล้ว จะพบว่าหากมีการวางแผนการลงทุน ก็จะทำให้โอกาสบรรลุเป้าหมายการลงทุนมีสูงมากขึ้น ภายใต้ระดับความเสี่ยงและจำนวนเงินลงทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากการลงทุนในหลักทรัพย์มีความเสี่ยงที่ต่ำ จะให้อัตราผลตอบแทนที่ต่ำตามไปด้วย ดังนั้น การวางแผนการลงทุนซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการวางแผนการเงิน ซึ่งจะทำให้สามารถลงทุนได้ภายใต้เงื่อนไข ซึ่งมีข้อจำกัดที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

กระบวนการวางแผนการลงทุน

ขั้นตอนสำหรับการวางแผนการลงทุนประกอบด้วย 6 ขั้นตอนดังนี้ คือ

ขั้นตอนที่ 1 การรวบรวมและประเมินเป้าหมาย

การรวบรวมและประเมินเป้าหมาย เป็นขั้นตอนนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการวางแผนการลงทุนถึงแม้ว่าจะมีกระบวนการวางแผนที่ดีแต่หาข้อมูลที่รวบรวมมาไม่ถูกต้องก็จะทำให้ได้แผนการลงทุนที่อาจจะไม่ตรงกับความต้องการได้ดังนั้นข้อมูลที่นักวางแผนการเงินจะต้องรวบรวมเพื่อประกอบการจัดทำแผนการลงทุนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.ข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นข้อมูลที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการวางแผนการลงทุน ที่จะต้องรวบรวมเพื่อนำไปประกอบการจัดทำแผนการลงทุน ซึ่งข้อมูลสำคัญที่ต้องรวบรวมได้แก่ เป้าหมายและวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับความสำคัญของเป้าหมาย ข้อจำกัดในการลงทุน ช่วงอายุของผู้ลงทุน เป็นต้น

1.1 เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการลงทุน เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการจัดทำแผนการลงทุน ในทางปฏิบัตินักวางแผนการเงินมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้ได้เป้าหมายทางการเงินที่เหมาะสมที่สุด ทั้งนี้สามารถแบ่งเป้าหมายทางการเงินได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.1.1 เป้าหมายทางการเงิน แบ่งตามระยะเวลาในการลงทุนได้ 3 ประเภท

1.1.1.1 เป้าหมายระยะสั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีระยะเวลาในการลงทุนไม่เกิน 3 ปี

1.1.1.2 เป้าหมายระยะปานกลาง เป็นเป้าหมายที่มีระยะเวลาในการลงทุนตั้งแต่ 3 ปี แต่ไม่เกิน 7 ปี

1.1.1.3 เป้าหมายระยะยาว เป็นเป้าหมายที่มีระยะเวลาในการลงทุนมากกว่า 7 ปีขึ้นไป

1.1.2 เป้าหมายทางการเงิน แบ่งตามผลตอบแทนที่ต้องการได้รับจากการลงทุน 5 ประเภท

1.1.2.1 เพื่อความปลอดภัยของเงินลงทุน (Safety of Principal) เป้าหมายการลงทุนลักษณะนี้จะมุ่งคุ้มครองเงินต้นเป็นหลัก

1.1.2.2 เพื่อเพิ่มมูลค่าของเงินลงทุน (Capital Appreciation) เป็นเป้าหมายที่ต้องการให้หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินที่ตนเองลงทุน หรือมีอยู่นั้นเพิ่มมูลค่าเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลาที่ลงทุน

1.1.2.3 เพื่อเสถียรภาพของรายได้ (Stability of Income) มีเป้าหมายการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินใด ๆ ก็ตามที่ให้กระแสเงินสดรับเข้ามาแน่นอนเป็นประจำสม่ำเสมอ

1.1.2.4 เพื่อให้ได้ผลตอบแทนรวม (Total Return) หมายความว่าผู้ลงทุนต้องการให้ระดับผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุนมีความเหมาะสม ไม่เน้นไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป

1.1.2.5 เพื่อผลประโยชน์ทางภาษี (Taxes Benefit) สำหรับผู้ลงทุนที่มีภาระภาษีเงินที่ในจำนวนที่สูง เป้าหมายการลงทุนจึงมุ่งเน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษี

1.2 การกำหนดเป้าหมายการลงทุน ส่วนใหญ่มักจะมีเป้าหมายเพื่อต้องการรักษามาตรฐานการดำเนินชีวิตของตนเอง (Life style) ให้คงอยู่เท่าเดิมหรือดีขึ้นมากกว่าเดิม ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายนั้น จึงขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสม และความเป็นไปได้ตามสถานะ โดยอาศัยคำถามง่าย ๆ ที่ใช้ในการกำหนดเป้าหมาย ให้อยู่ภายใต้ระดับความสามารถ และความเป็นไปได้ ดังนี้คือ

1.2.1 ต้องการที่จะใช้เงินจำนวนเท่าใด เพื่อรักษารูปแบบการดำเนินชีวิตไลฟ์สไตล์ที่ต้องการ

1.2.2 รูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบันอันไหน เหมาะสมกับฐานะการเงิน

1.2.3 มีแหล่งการเงินอื่นอะไรบ้าง ที่สามารถใช้เป็นเงินทุนสำหรับการดำเนินชีวิต ในแบบที่ต้องการ และเป้าหมายทางการเงินอื่น ๆ

1.3 หลักในการกำหนดเป้าหมายการลงทุน ควรกำหนดขึ้นบนพื้นฐานความสามารถ ควรมีความชัดเจนทั้งในเรื่องของจำนวนเงิน และระยะเวลาที่ต้องการบรรลุเป้าหมายในแต่ละเป้าหมาย ตลอดจนควรจะมีการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ เนื่องจากบางคนอาจจะมีจำนวนเงินลงทุนที่จำกัด และให้ความสำคัญในแต่ละเป้าหมายแตกต่างกันไป นอกจากนี้ในการกำหนดเป้าหมายนั้น ไม่ควรมองข้ามในเรื่องความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุน (risk tolerance) การกำหนดอัตราผลตอบแทนที่ต้องการบรรลุเป้าหมายที่สูงเกินไป ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการคาดหวังเกินความสามารถที่จะทำได้ก็เป็นได้ และอาจจะทำให้มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งการกำหนดเป้าหมายลักษณะนี้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

1.4 การจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายการลงทุน เนื่องจากเป้าหมายอาจจะมีหลายเป้าหมาย และในแต่ละเป้าหมายอาจจะมีความสำคัญที่แตกต่างกัน ดังนั้น ควรที่จะจัดทำแผนการลงทุนที่มีความสำคัญสูงที่สุดก่อน และรอจนกว่าเป้าหมายที่สำคัญมากเสร็จ ซึ่งจะเริ่มทำการลงทุนเพื่อเป้าหมายที่มีความสำคัญรองลงมา อย่างไรก็ตามควรให้ความสำคัญกับเป้าหมายพื้นฐานก่อน เช่น ควรให้ความสำคัญกับเงินสำรองสภาพคล่องก่อนเรื่องของภาระหนี้สิน การป้องกันความเสี่ยง การวางแผนการศึกษาบุตร การวางแผนเพื่อการเกษียณ การวางแผนภาษี และการวางแผนการลงทุน สำหรับความต้องการที่นอกเหนือจากนี้สามารถทำได้ แต่ควรที่จะทำหลังจากได้ดำเนินการวางแผนสำหรับเป้าหมายพื้นฐานเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ในการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย สามารถแบ่งเป็น 3 ระดับคือ

1.4.1 เป้าหมายที่มีระดับความสำคัญมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเป้าหมายขั้นพื้นฐานในการวางแผนทางการเงิน และหากไม่บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และครอบครัวอย่างมาก

1.4.2 เป้าหมายที่มีระดับความสำคัญปานกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นเป้าหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการ และหากไม่บรรลุเป้าหมายการลงทุน ก็จะส่งผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก

1.4.3 เป้าหมายที่มีระดับความสำคัญน้อย เป็นเป้าหมายที่กำหนดเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการเท่านั้นเมื่อไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนก็ไม่ส่งผลกระทบกับมาตรฐานการดำเนินชีวิต

1.5 ข้อจำกัดในการลงทุน นอกจากผู้ลงทุนแต่ละคนนั้น จะมีข้อจำกัดในการลงทุนที่แตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนที่จะดำเนินการจัดทำแผนการลงทุน ควรที่จะพิจารณาถึงข้อจำกัดในการลงทุน เช่น บางคนมีความต้องการที่จะลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงเกินไป เช่น อนุพันธ์หรือหุ้นกู้ที่มีระดับต่ำกว่าระดับการลงทุน เป็นต้น หรือบางคนอาจจะต้องการระดับสภาพคล่องที่แตกต่างกัน หรือมีกรอบระยะเวลาในการลงทุนที่แตกต่างกัน

1.6 ช่วงอายุ จะมีผลกับระดับความสามารถในการรับความเสี่ยงจากการลงทุน ในช่วงอายุน้อยก็มีโอกาสที่จะแก้ตัวได้หากการลงทุนมีความผิดพลาด สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากกว่าคนที่มีอายุมากกว่า

1.7 ข้อมูลอื่น ๆ นอกจากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือหลักเกณฑ์ และแนวทางในการวัดผลการดำเนินงาน แนวทางในการปรับสัดส่วนเงินลงทุนในระยะสั้น เมื่อปัจจัยภายนอกเปลี่ยนแปลง ตลอดจนวิธีการคำนวณหาอัตราผลตอบแทนคาดหวัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องมีความเข้าใจ สามารถอธิบายและตัดสินใจได้ เนื่องจากอาจจะเป็นสิ่งที่ยากต่อการทำความเข้าใจ

2.ข้อมูลเชิงปริมาณ เป็นข้อมูลที่สำคัญไม่น้อยกว่าข้อมูลเชิงคุณภาพ เนื่องจากข้อมูลเชิงปริมาณนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนระดับความสามารถในการรับความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างดี สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณจะต้องรวบรวม เพื่อประกอบการจัดการแผนการลงทุนที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

2.1 สถานะการเงินในปัจจุบัน ฐานะการเงินสามารถสะท้อนถึงความพร้อมในการลงทุน ระดับความต้องการสภาพคล่อง ภาระหนี้สิน และความมั่งคั่งทางการเงิน ตลอดจนพฤติกรรมการใช้จ่าย ระดับความสามารถในการหารายได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเพื่อเป็นสิ่งที่ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ และประเมินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อใช้ในการจัดทำแผนการลงทุนได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

2.2 สถานะพอร์ตการลงทุนในปัจจุบัน ในเรื่องเงินที่นำมาลงทุนมีจำนวนเท่าใด และต้องการนำหลักทรัพย์ลงทุนประเภทไหนมาลงทุนบ้าง ต้องการจัดสรรเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ประเภทไหน ไปลงทุนในแต่ละเป้าหมายเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ นอกจากนี้พอร์ตการลงทุนในปัจจุบัน ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงทัศนคติได้อย่างหนึ่ง เนื่องจากหลักทรัพย์ลงทุนที่มีอยู่ในพอร์ตปัจจุบัน จะเป็นตัวบอกได้ว่าพฤติกรรมการลงทุน และทัศนคติต่อการลงทุนเป็นเช่นใด ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ ระดับความยินดีในการรับความเสี่ยงได้เช่นกัน

2.3 อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ เมื่อทราบถึงความต้องการในการจัดสรรเงินลงทุนแล้ว ทราบถึงจำนวนเงิน และระยะเวลาที่ต้องการบรรลุเป้าหมายแล้ว ก็สามารถที่จะคำนวณหาอัตราผลตอบแทนที่ต้องการได้

ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และข้อจำกัดในการลงทุน

เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญในการวางแผนการลงทุนอีกขั้นตอนหนึ่ง เนื่องจากระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในการลงทุน และข้อจำกัดในการลงทุน จะใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญตัวหนึ่ง ในการกำหนดสัดส่วนการลงทุน (Asset allocation) และเลือกหลักทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงให้สอดคล้องและเหมาะสม ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับก็จะแปรผัน ตามระดับความเสี่ยงของหลักทรัพย์ลงทุน

ขั้นตอนที่ 3 การออกแบบพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม

เมื่อดำเนินการวัดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในการลงทุนแล้ว ขั้นตอนต่อมาจะต้องออกแบบพอร์ตการลงทุน ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับ Risk Tolerance และข้อจำกัดในการลงทุน ซึ่งรูปแบบการจัดสัดส่วนเงินลงทุนนั้น มีหลากหลายแต่อยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่า ผู้ที่มีระดับ Risk Tolerance สูงย่อมลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มี Risk Tolerance ต่ำ เป็นแนวทางในการกำหนดสัดส่วนการลงทุนตามระดับ Risk Tolerance

ขั้นตอนที่ 4 การจัดทำนโยบายการลงทุน

เมื่อเลือกพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ขั้นตอนต่อมาจะเป็นการจัดทำนโยบายการลงทุน เพื่อใช้เป็นกรอบหรือแนวทาง ใช้เป็นเกณฑ์ในการดำเนินการลงทุน ในการจัดทำนโยบายการลงทุนจะต้องมีรายละเอียดครอบคลุมถึงข้อมูลทั่วไป เป้าหมายการลงทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ แนวทางการจัดสรรเงินลงทุน แนวทางการวัดผลการดำเนินงาน แนวทางปรับสัดส่วนเงินลงทุนในระยะสั้น เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 5 การลงทุนตามนโยบายการลงทุน

จัดทำแผนปฏิบัติการลงทุน เพื่อดำเนินการลงทุนตามนโยบายการลงทุนของแต่ละเป้าหมาย ซึ่งเริ่มต้นแนวทางการปรับพอร์ตการลงทุนในปัจจุบัน แนวทางในการเลือกผู้จัดการลงทุน แนวทางในการติดตามและวัดผลการลงทุน เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 6 การติดตามและวัดผลการลงทุน

เมื่อจัดทำแผนการลงทุนแล้ว จะต้องมีการติดตามผลการปฏิบัติการ ซึ่งอาจจะกำหนดเป็นรายเดือน รายไตรมาส ทุก 6 เดือนหรือ 1 ปีก็ได้ เพื่อจะดำเนินการปรับเปลี่ยน หรือหาแนวทางแก้ไข ในกรณีที่แผนการลงทุนไม่เป็นไปตามที่กำหนด

สรุปว่าการลงทุนนั้น เป็นการจัดสรรเงินเพื่อเอาไปซื้อหลักทรัพย์ ทำให้เงินนั้นเกิดดอกออกผลในอนาคต เมื่อลงทุนอย่างถูกวิธี และผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนเป็นอย่างดี ก็จะสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น  และการวางแผนการลงทุนต้องอาศัยขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การรวบรวมข้อมูลและประเมินเป้าหมาย การวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ออกแบบพอร์ตที่เหมาะสมกับตัวเอง จัดทำนโยบาย ลงทุนตามนโยบาย และสุดท้ายติดตามและวัดผลการลงทุน เมื่อทำได้อย่างนี้ จะทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นคงและลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *