กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

1.ความหมายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เป็นกองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสม และเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ ในอัตราร้อยละ 2 – 15 ของค่าจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายสมทบ ไม่น้อยกว่าอัตราที่ลูกจ้างสะสม รวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้ และผลประโยชน์จากเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้าง ในกรณีที่เสียชีวิต ออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุนไว้ใช้จ่ายในวัยหลังเกษียณ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีสถานะเป็นนิติบุคคล แยกต่างหากจากทรัพย์สินของนายจ้างและบริษัทจัดการ

2.วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการคือ

2.1 เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง โดยเป็นการสร้างหลักประกันแก่ลูกจ้างและครอบครัว เมื่อออกจากงานหรือเกษียณอายุก็ยังมีเงินได้เพื่อยังชีพ

2.2 เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งสร้างชื่อเสียงให้แก่นายจ้างว่ามีสวัสดิการที่มั่นคง และเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานของลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างอยู่กับนายจ้างนานขึ้น

2.3 เพื่อเป็นการส่งเสริมการระดมเงินออมผูกพันระยะยาวจากภาคเอกชน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยผ่านช่องทางการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุน

3.ความเป็นมาของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ในประเทศไทยการจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานหรือลูกจ้าง ให้มีเงินยังชีพเมื่อออกจากงาน ในรูปแบบต่าง ๆ ได้มีมานานแล้ว และสวัสดิการในรูปแบบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้มีมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2526 แต่ไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร และยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก เนื่องจากยังไม่มีหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ต่อมาทางการเริ่มมองเห็นความสำคัญของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากขึ้น จึงพยายามส่งเสริมและจูงใจให้ภาคเอกชนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้น โดยเริ่มที่การประกาศใช้บังคับกฎกระทรวงฉบับที่ 162 พ.ศ. 2526 ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2526 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญ ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในด้านต่าง ๆ

4.พัฒนาการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มีพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านตัวบทกฎหมาย ข้อกำหนดต่าง ๆ จากทางกระทรวงการคลัง และขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ ซึ่งพัฒนาการของกองทุนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบันนี้สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะคือ

4.1 ระยะที่ 1 ช่วงก่อนปี พ.ศ 2527 การจัดสวัสดิการส่วนใหญ่ จะกระทำกันในรูปแบบของกองทุนบำเหน็จคือ กองทุนที่นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีทั้งที่นายจ้างกันเงินสำรองไว้ต่างหาก และแบบที่นายจ้างตั้งตัวเลขทางบัญชีไว้ โดยเป็นการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จของบริษัทใหญ่ ๆ ที่มาเปิดสาขาในประเทศไทยซึ่งมีเพียงไม่กี่ราย ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลูกจ้าง และนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย

4.2 ระยะที่ 2 ช่วงปี พ.ศ. 2527-2530 เป็นช่วงที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 มีผลใช้บังคับ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฉบับดังกล่าว ภาครัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมให้ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัดจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงาน เพื่อสร้างเงินออมในเชิงบังคับ และเป็นการสร้างสวัสดิการให้แก่พนักงาน ส่งผลให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สำคัญ ๆ เช่น ต้องมีการจ่ายเงินสะสมของพนักงาน และเงินสมทบของนายจ้าง มีการกันเงินกองทุนนี้ออกจากบัญชีการเงินของบริษัทนายจ้างอย่างถูกต้อง และมีผู้บริหารกองทุนเป็นเอกเทศ เพื่อนำเงินในกองทุนไปหาผลประโยชน์ ในการคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีทางนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา

4.3 ระยะที่ 3 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงขยายตัว ในภาคอุตสาหกรรมผลผลิตมีการขยายตัวอย่างมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งออกและด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้มีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก มีปริมาณเงินหมุนเวียนภายในประเทศอย่างสม่ำเสมอ และบริษัทต่าง ๆ เริ่มเล็งเห็นประโยชน์ของการออม ในรูปของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันมากขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้น

4.4 ระยะที่ 4 มีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง รวมทั้งเพื่อให้การบริหารกองทุนมีความยุติธรรมแก่ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งกองทุน และการบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพ และได้รับผลประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากสำนักงานเขตเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้วนั้น ถือว่าเป็นการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขึ้นอย่างยิ่ง และบริษัทต่าง ๆ มีความมั่นใจว่าการบริหารเงินในกองทุนของตน ภายใต้การจัดการกองทุนโดยบริษัทจัดการที่มีมาตรฐาน และมีศักยภาพในด้านการลงทุนนั้น จะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า และไม่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียสินทรัพย์แต่อย่างใด

 

5.ประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

5.1 กองทุนเดี่ยวแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ

5.1.1 กองทุนที่มีบริษัทนายจ้างรายเดียว กองทุนลักษณะนี้เหมาะสมกับนายจ้างที่มีจำนวนลูกจ้างมากพอ ที่จะสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนของตนเอง โดยไม่ต้องอิงกับนายจ้างอื่น มีอิสระในการกำหนด แก้ไข และเปลี่ยนแปลงแนวทางบริหารจัดการกองทุน โดยทั่วไปนายจ้างที่จัดตั้งกองทุนเดี่ยว จะมีขนาดกองทุนเกินกว่า 100 ล้านบาท

5.1.2 กองทุนที่มีบริษัทนายจ้างมากกว่า 1 ราย แต่เป็นกลุ่มของนายจ้างที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน โดยมีรูปแบบบริหารจัดการกองทุนเหมือนกับกองทุนเดี่ยว

5.2 กองทุนร่วม เป็นกองทุนที่มีบริษัทนายจ้างหลายรายร่วมกัน จดทะเบียนจัดตั้งเป็น 1 กองทุน มีข้อจำกัดในการกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับชื่อกองทุน แผนการลงทุน รวมถึงข้อบังคับของกองทุน แต่สามารถกำหนดรายละเอียด หรือข้อกำหนดบางส่วนที่ใช้กับกองทุนเฉพาะส่วนของตนได้ เช่น เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกกองทุน อัตราเงินสะสม สมทบ หรือหลักเกณฑ์ในการได้รับเงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบจากนายจ้าง เมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ เป็นต้น

 

6.แหล่งที่มาของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนซึ่งเรียกว่าเงินสะสม และเงินที่นายจ้างนำส่งเข้ากองทุนซึ่งเรียกว่าเงินสมทบ ในอัตราร้อยละ 2 ถึง 15 ของค่าจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายสมทบไม่น้อยกว่าอัตราที่ลูกจ้างสะสม รวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้ และผลประโยชน์จากเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว โดยทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง นายจ้างและลูกจ้างต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือเป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน

 

7.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน อาจจำแนกได้ดังต่อไปนี้

7.1 ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน โดยทั่วไปมักคำนวณเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายดังกล่าว อาจกำหนดได้หลายวิธี กำหนดเป็นอัตราเดียวหรืออัตราค่าใช้จ่ายจะเปลี่ยนแปลงไปตามมูลค่าเงินกองทุนที่เพิ่มมากขึ้น หรือการคำนวณในอัตราที่เพิ่มขึ้นตามอัตราอ้างอิงที่กำหนด ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มักจะหักจากกองทุน

7.2 ค่าธรรมเนียมผู้รับฝากทรัพย์สิน โดยทั่วไปมักคำนวณเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ปัจจุบันผู้รับฝากทรัพย์สินอาจมีหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกประการคือ การตรวจสอบและรับรองมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทำให้อาจมีการคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ในจำนวนเงินคงที่ต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นอีกในลักษณะร้อยละของขนาดทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มักจะกองทุน

7.3 ค่าธรรมเนียมในการจัดทำระบบทะเบียนสมาชิก ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้โดยส่วนใหญ่ จะคิดในอัตราที่แปรผันตามจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมในกองทุน เช่น อัตราที่ x บาทต่อคนต่อเดือน เป็นต้น

7.4 ค่าธรรมเนียมผู้สอบบัญชี โดยปกติอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวนี้ มักจะขึ้นอยู่กับขนาดหรือมูลค่าเงินกองทุน และจำนวนสมาชิกที่อยู่ในกองทุน เช่น จำนวน x บาทต่อปี โดยสามารถหักจากกองทุนหรือนายจ้างเป็นผู้รับภาระก็ได้

7.5 ค่าธรรมเนียมในการชำระบัญชีของกองทุน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้มักเกิดขึ้นเมื่อกองทุนยกเลิก โดยทั่วไปจะมีการกันสำรอง และประมาณค่าใช้จ่ายไว้ก่อนวันที่กองทุนเลิก โดยให้เป็นภาระของกองทุน เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดทำงบการเงิน ณ วันที่กองทุนยกเลิก ค่าใช้จ่ายผู้สอบบัญชี และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นต้น

7.6 ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ มี ค่าธรรมเนียมสำหรับการขายหรือซื้อหรือไถ่ถอนหลักทรัพย์ของกองทุน รวมถึงค่าธรรมเนียมการโอนหรือจดทะเบียนหลักทรัพย์ของกองทุน ค่าอากรแสตมป์ ค่าเช็ค ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมคณะกรรมการกองทุนและการจัดประชุมใหญ่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของกองทุน ค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ระบุไว้ในสัญญาแต่งตั้งบริษัทจัดการ หรือที่กองทุนตกลงไว้กับคู่สัญญา

8.ประเภททรัพย์สินที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถลงทุนได้และอัตราส่วนการลงทุน

8.1 ประเภททรัพย์สินที่ลงทุนได้ มี เงินฝาก ตราสารหนี้ที่เทียบเท่าเงินสด เช่น สลากออมทรัพย์ทวีสิน สลากออมสิน เงินฝากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ ชุมนุมสหกรณ์ ออมทรัพย์ เงินฝากในสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสาถาบันการเงินตามที่สำนักงานกำหนด ตราสารแห่งหนี้ได้แก่ พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ตราสารแห่งทุนได้แก่ หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้น ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนได้แก่ หุ้นกู้แปลงสภาพ  หน่วยลงทุน ใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตราสารที่มีลักษณะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

8.2 อัตราส่วนการลงทุน เพื่อให้กองทุนมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพ และในอัตราส่วนการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งจะไม่ทำให้กองทุนมีความเสี่ยงมากเกินไป ทั้งนี้คณะกรรมการกองทุนควรพิจารณาประเภทหลักทรัพย์ที่ลงทุน ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของกองทุน

 

9.สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เงินที่นำส่งเข้าหรือจ่ายออกจากกองทุน รวมทั้งผลประโยชน์จากการลงทุน จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมีรายละเอียดดังนี้

9.1 เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 290,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินที่เสียภาษี

9.2 เงินที่สมาชิกได้รับจากกองทุนเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส่วนที่เป็นเงินสะสมได้รับยกเว้นภาษี สำหรับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ ได้รับประโยชน์ทางภาษีตามเงื่อนไขดังนี้

9.2.1 กรณีลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุ หากมีระยะเวลาการทำงานน้อยกว่า 5 ปี ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีทั้งจำนวน แต่หากสมาชิกมีระยะเวลาการทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าใดหักได้อีกครึ่งหนึ่ง 

9.2.2 กรณีออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุ หากมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป หรือเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของนายจ้าง และมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกกองทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เงินที่ได้รับจากกองทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน แต่หากเกษียณอายุไม่ถึง 50 ปี หรือเกษียณโดยมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกกองทุนไม่ถึง 5 ปี ก็จะได้รับสิทธิ์เหมือนกับกรณีลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุ

9.2.3 กรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพ เงินที่ได้รับจากกองทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน

9.3 เงื่อนไขที่ใช้กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น จะใช้อายุการทำงานเป็นเกณฑ์ในการกำหนดสิทธิ ยกเว้นกรณีสิ้นสุดสมาชิกภาพด้วยเหตุเกษียณอายุ จะใช้อายุสมาชิกเป็นเกณฑ์ในการกำหนดสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษี

9.4 ในการขอรับสิทธิ์ยกเว้นภาษี ในกรณีที่สิ้นสุดสมาชิกภาพด้วยเหตุเกษียณอายุนั้น  จะต้องมีหนังสือรับรองการเกษียณอายุจากบริษัทที่สมาชิกทำงานอยู่ หากบริษัทกำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 60 ปี แต่สมาชิกลาออกจากกองทุนโดยมีอายุมากกว่า 55 ปีแต่ไม่ถึง 60 ปี ก็ไม่เข้าข่ายเงื่อนไขการสิ้นสุดสมาชิกภาพด้วยเหตุเกษียณอายุ แต่เป็นการสิ้นสุดสมาชิกภาพด้วยเหตุการลาออกจากงาน ดังนั้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขการได้รับสิทธิยกเว้นภาษี

สรุป

การออมไม่ว่าระยะสั้นหรือระยะยาว ไม่ว่าออมมากหรือออมน้อย ย่อมมีความสำคัญต่อภาคเอกชนรายย่อยทุกราย ตลอดจนภาครัฐและประเทศชาติโดยรวม โดยเฉพาะการออมแบบผูกพันระยะยาว ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นกองทุนที่เกิดจากความสมัครใจร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่เนื่องจากลูกจ้างในฐานะสมาชิกกองทุนมีความหลากหลาย ทั้งในด้านอายุ ผลตอบแทนที่คาดหวัง และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ 

ด้วยเป้าประสงค์ที่ต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านการออม ทั้งในระดับรายย่อยและพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงระดับประเทศ ส่งผลให้เกิดการพัฒนารูปแบบการออมให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และจากการที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทย ได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการบริหารจัดการกองทุนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อพร้อมที่จะเป็นกลไกสำคัญในการระดมเงินออมผูกพันระยะยาว เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น  ก็จะคืนกลับสู่ผู้ออมไม่ว่าทางใดทางหนึ่งนั่นเอง.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *