เครื่องมือทางการเงินเพื่อบริหารสภาพคล่องที่ควรรู้

เครื่องมือทางการเงินที่ควรรู้ไว้

ในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะมีค่าใช้จ่ายอื่นเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภค และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ แต่ในบางครั้งก็อาจต้องใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ได้วางแผน หรือคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วยกะทันหัน การเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ในส่วนของรายรับ โดยส่วนใหญ่ทั่วไปจะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงปลายเดือนเท่านั้น ยกเว้นในบางครั้ง อาจมีรายได้บางส่วนซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน เช่น รายได้จากรางวัลหรือการมีโชคต่าง ๆ เป็นต้น จะเห็นว่ากระแสเงินสดดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทั้งที่ทราบและไม่ทราบ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดสภาพคล่อง และจำเป็นที่จะต้องอาศัยกระบวนการและวิธีการ ในการบริหารเงินสดเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยทำให้ไม่เกิดปัญหาสภาพคล่อง และในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องมีการสำรองเงินสดไว้เกินความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการซื้อสินค้าหรือบริการใด ๆ อาจจะใช้การเช่าเป็นเครื่องมือทางการเงิน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ ทดแทนการซื้อโดยการใช้สินเชื่อ การเช่าจึงอาจจัดได้ว่าเป็นเครื่องมือ ที่สามารถจัดหาเงินทุนได้ทางอ้อมแทนการขอใช้สินเชื่อได้อีกด้วย

ในบทความนี้จะมาชวนท่านผู้อ่าน มาดูตราสารทางการเงินที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารสภาพคล่อง ทั้งในส่วนของการจัดการเงินสด (cash management) และการจัดการสินเชื่อ (credit management) ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงกระบวนการจัดกลุ่มใดเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย ระหว่างการซื้อหรือการเช่า (buying or leasing) ในฐานะเป็นแหล่งที่มาของสภาพคล่องส่วนที่ขาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับกระบวนการวางแผนการเงินส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน พร้อมแล้วมาตามอ่านไปด้วยกันเลยครับ

การบริหารเงินสด

ในแต่ละวันถูกคนแต่ละคนมีการถือครองเงินสดเป็นจำนวนที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการที่บุคคลแต่ละคน จะมีรายรับและรายจ่ายในรูปของเงินสดในแต่ละวัน แต่ละเดือน หรือแต่ละปีเป็นจำนวนมากน้อยที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องวางแผนทางการเงินเกี่ยวกับเงินสดว่า ควรจะถือครองเงินสดเป็นจำนวนเท่าไร และควรจะบริหารเงินสดที่ถือครอง โดยการตัดสินใจกำหนดสัดส่วนระหว่างเงินสด และสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ใช้แทนเงินสด ที่สืบเนื่องมาจากเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

1. เงินสดที่นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั่วไป (pocket money) เพื่อให้ใช้จ่ายได้อย่างสะดวกตลอดเวลา

2. เงินสดที่นำไปใช้ในยามฉุกเฉิน การใช้จ่ายขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละบุคคล

3. การออมเงินเพื่อรวบรวมไว้ซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง หรือเพื่อรอจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต

ถึงแม้ว่าการถือครองเงินสดจะมีข้อดี แต่การถือครองเงินสดหรือรักษาสภาพคล่องที่มากเกินไปก็มีข้อเสีย เนื่องจากสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมีความเสี่ยงต่ำ จึงทำให้ได้รับอัตราผลตอบแทนจากการถือครองที่ต่ำ นอกจากนั้น ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นที่สูงเกินความจำเป็น

ทางเลือกในการบริหารเงินสด

การจัดการสภาพคล่องหรือการบริหารเงินสด (liquidity management or cash management) ก็คือการตัดสินใจว่า ต้องเก็บรักษาจำนวนเงินให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายที่จำเป็น ไม่น้อยจนขาดแคลนในยามที่ต้องการใช้เงิน และไม่มากจนก่อให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส การถือครองเงินสดจะไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น อาจต้องเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องอื่น ๆ แทนเงินสด ซึ่งเป็นทางเลือกอื่น ๆ ที่สามารถใช้ในการจัดการเงินสด (cash management alternatives) ดังต่อไปนี้

1. เงินฝากธนาคาร (banking accounts)

เป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดการสภาพคล่องแทนการถือครองเงินสด โดยการเปิดบัญชีเงินฝากประเภทต่าง ๆ กับธนาคารพาณิชย์ เช่น

  • บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน (checking account) หรือบัญชีเงินฝากเดินสะพัด (current account) เป็นบริการเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์จะจ่ายคืนเมื่อเจ้าของบัญชีทวงถาม ผู้เปิดบัญชีจะไม่ได้รับสมุดคู่ฝาก แต่จะได้รับสมุดเช็คเพื่อใช้ในการถอนเงิน และได้รับใบบันทึกรายการสรุปการเคลื่อนไหวของบัญชีในแต่ละรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยการถอนเงินแต่ละครั้ง เจ้าของบัญชีจะต้องลงลายมือชื่อในเช็ค โดยอาจระบุให้สั่งจ่ายกับผู้ถือหรือผู้ที่ระบุก็ได้ เจ้าของบัญชีจะไม่ได้รับดอกเบี้ย นอกจากนี้เจ้าของบัญชียังต้องจ่ายค่าธรรมเนียม และค่าอากรสำหรับการซื้อสมุดเช็คแต่ละเล่ม และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในกรณีที่มีการคืนเช็ค เนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่ายอีกด้วย
  • บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ (saving account) เป็นบริการเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์จะจ่ายเงินคืน เมื่อเจ้าของบัญชีทวงถามเช่นกัน แต่เจ้าของบัญชีจะได้รับสมุดคู่ฝาก เพื่อทำการฝากเงิน ถอนเงิน หรือโอนเงิน และจะได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงินดังกล่าวด้วย ทั้งนี้การฝากหรือถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทำได้ง่าย จึงได้รับอัตราผลตอบแทนจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวต่ำ
  • บัญชีเงินฝากประจำ (fixed-rate account) เป็นบัญชีเงินฝากที่จะต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กำหนด โดยผู้ฝากสามารถเลือกออมเงินตามกำหนดระยะเวลา ธนาคารพาณิชย์จะคำนวนดอกเบี้ยในแต่ละยอดเงินฝากให้ตามอัตราที่กำหนด ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก และทบต้นให้ทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แต่จะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจากผู้ฝากเงินต้องไม่ถอนเงินก่อนครบกำหนดที่ตกลงกัน

2. ใบรับฝากเงินหรือบัตรเงินฝาก (certificate of deposit)

เป็นบริการเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์จะจ่ายคืนเงินต้นพร้อมกับดอกเบี้ย ตามอัตราที่ระบุเมื่อครบกำหนด ตามที่ตกลงกันไว้แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ

  • ใบรับฝากเงินที่เปลี่ยนมือไม่ได้ (non-negotiable certificate of deposit) ซึ่งถ้าผู้ฝากมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินก่อนทุกกำหนดไถ่ถอนผู้ฝากสามารถขายของก่อนทุกตำแหน่งได้แต่อาจต้องเสียค่าปรับต่าง ๆ
  • ใบรับฝากเงินที่เปลี่ยนมือได้ (negotiable certificate of deposit) เป็นใบรับฝากเงินที่ผู้ฝากสามารถนำไปขายต่อในตลาดรอง เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงินก่อนครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งราคาขายต่อที่ผู้ฝากได้รับ อาจจะไม่เท่ากับเงินต้นที่ระบุไว้ในใบรับฝากดังกล่าว

3. ตั๋วเงินคลัง (treasury bills)

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาสภาพคล่องแทนการถือครองเงินสด ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง โดยการลงทุนนั้นผู้ลงทุนจะไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่จะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาหน้าตั๋ว หรือมูลค่าที่ตราไว้ที่จะได้รับคืนเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน และราคาที่ซื้อโดยได้รับส่วนลด อัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจะค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ต่ำนั่นเอง

4. กองทุนรวมที่ลงทุนในตลาดเงิน (money market mutual funds)

การลงทุนโดยการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ที่มีการกำหนดนโยบายโดยลงทุนเฉพาะในตราสารทางการเงินที่ซื้อขายกันในตลาดเงิน จะมีสภาพคล่องสูงสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เนื่องจากมีอายุสั้นมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ไม่ต้องกังวลว่ามูลค่าหน่วยลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไปมากนัก

การเปรียบเทียบทางเลือกในการบริหารเงินสด

ในการเปรียบเทียบทางเลือกในการบริหารเงินสด (comparison cash management) มีปัจจัยที่สำคัญที่ผู้ฝากควรใช้พิจารณา คือ

อัตราผลตอบแทน (rate of return)

ซึ่งอัตราผลตอบแทนที่ระบุในแต่ละทางเลือก อาจมีความถี่ในการคิดทบต้นที่ไม่เท่ากัน ทำให้ผู้ฝากไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยตรง แต่จะต้องทำการเปลี่ยนแปลงอัตราผลตอบแทนในแต่ละทางเลือก ให้มีความถี่ในการคิดทบต้นที่เท่ากันเสียก่อน

อัตราภาษี (tax rate)

ควรพิจารณาว่าในแต่ละทางเลือกนั้น มีทางเลือกใดบ้างที่ได้รับการยกเว้นภาษี มีทางเลือกใดบ้างที่จะต้องเสียภาษี และอัตราภาษีที่คิดเท่ากับเท่าไหร่ แล้วจึงค่อยเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนดังกล่าวหลังหักภาษีแล้ว

ความเสี่ยง

ในแต่ละทางเลือกจะมีความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน ทั้งความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินต้น และผลตอบแทนจากการลงทุนคืน หรือความเสี่ยงที่เงินลงทุนอาจจะลดน้อยลงไปจากเดิมด้วย

สินเชื่อ

ในบางครั้งอาจจะมีความจำเป็น หรือมีความต้องการใช้สอยสินทรัพย์บางประเภท ซึ่งมูลค่าของสินทรัพย์อาจสูงกว่าเงินที่มีอยู่ จึงมีความจำเป็นต้องก่อหนี้หรือขอสินเชื่อ ถ้าหากมีการก่อหนี้หรือใช้สินเชื่อในระดับที่สูงมาก จนกระทั่งไม่สามารถชำระคืนหนี้สินได้ ก็อาจจะพบกับปัญหาทางการเงิน ซึ่งในที่สุดอาจถูกฟ้องร้องล้มละลายได้ ซึ่งการก่อหนี้มีดังต่อไปนี้

การบริโภค (consumption)

เหตุผลที่สำคัญคือการก่อหนี้เพื่อการบริโภค โดยคาดหวังว่าจะเอารายได้ในอนาคตไปชำระคืน ทำให้สินค้าหรือบริการที่มีราคาสูงมาก ๆ อยู่ในวิสัยที่สามารถจะซื้อหามาครอบครองได้ และสามารถใช้สอยได้ทันทีในปัจจุบัน ไม่ต้องรอเก็บเงินเป็นระยะเวลานาน

ความสะดวก (convenience)

การใช้ประโยชน์สินเชื่อจากบัตรเครดิต ซึ่งจะทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถือครองเงินสด และพกพาเงินสดติดตัวเป็นจำนวนมาก ๆ ซึ่งอาจจะสูญหายได้

การสำรองฉุกเฉิน (contingency)

ในบางกรณีการเปิดวงเงินเบิกเกินบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ ทำให้บุคคลไม่จำเป็นต้องสำรองเงินสดไว้ในยามฉุกเฉิน ทั้งนี้หากเกิดเหตุการณ์ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินโดยไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เช่น การรักษาพยาบาล หรือการใช้จ่ายในช่วงที่ไม่ได้รับการจ้างงาน ก็สามารถจะเบิกถอนเงินสดมาใช้จ่ายได้

ข้อพึงระวังในการใช้สินเชื่อ

เมื่อใดที่ต้องการใช้สินเชื่อ ควรมีความระมัดมะวังในการใช้ซึ่งมีดังต่อไปนี้ คือ

การใช้สินเชื่อเกินความจำเป็น (excessive use of credit)

เนื่องจากในปัจจุบันการขอใช้สินเชื่อเป็นไปอย่างง่ายดาย และการใช้จ่ายจากสินเชื่อนั้น ยังไม่ต้องชำระเป็นเงินสด อาจจะทำให้มีการใช้จ่ายเกินตัวได้

ต้นทุนของสินเชื่อ (cost of credit)

สินเชื่อที่กู้ยืมมาใช้จ่ายนั้น จะต้องมีต้นทุนหรือดอกเบี้ยเสมอ ซึ่งในบางกรณีอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องชำระคืน อาจจะมีอัตราที่สูงมาก ๆ

การเช่า

ในกรณีที่มีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อสินทรัพย์ที่มีราคาแพง ทางออกหนึ่งที่จะสามารถใช้สอยสินทรัพย์ดังกล่าวได้ก็มีการเช่า (lease) ซึ่งจะทำให้ได้รับประโยชน์ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าในระยะสั้น เพราะไม่ต้องจ่ายเงินงวดเดียวจำนวนมาก ๆ ยังมีข้อได้เปรียบกว่าการซื้อตรงที่ไม่จำเป็นต้องกังวลกับการบำรุงรักษาอีกด้วย

ข้อได้เปรียบของการเช่า

  • มีภาระทางการเงินเฉพาะหน้าที่ต่ำ

การเช่านั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่คิดเป็นรายเดือน หรือรายงวดที่ต่ำกว่าการซื้อ ผู้เช่าไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการบำรุงรักษาในอนาคต

  • ความสะดวกสบาย

การเช่านั้นยังมีข้อได้เปรียบในแง่ของการเปลี่ยนสินทรัพย์ดังกล่าว ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตในอนาคตได้

ข้อเสียเปรียบของการเช่า

  • ไม่มีสินทรัพย์เป็นของตนเอง

ผู้เช่าจะสูญเสียโอกาสในการทำกำไร จากมูลค่าของสินทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น จากการขายสินทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นในราคาตลาด

  • ต้นทุนโดยรวมที่สูง

การเช่าจะมีต้นทุนสุทธิในการใช้สอยที่สูงกว่าการซื้อ เนื่องจากการเช่าจะต้องเช่าไปตลอด แต่การซื้อนั้นถ้าซื้อด้วยเงินสดก็จะจ่ายเงินเพียงครั้งเดียว และไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

  • ผู้ให้เช่าอาจไม่ต่อสัญญาเช่า

หรืออาจยกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนด

  • ผู้เช่าอาจไม่สามารถยกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนด

หรือต้องเสียค่าปรับตามที่ตกลงกันไว้

การตัดสินใจระหว่างการซื้อและการเช่า

ข้อควรพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรจะซื้อหรือเช่าดีจึงจะเหมาะสมกว่ากัน โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ

การซื้อจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงในอนาคต เนื่องจากการซื้อจะตกลงราคาซื้อขายในปัจจุบัน แต่การเช่าจะต้องตกลงค่าเช่าทุก ๆ การต่อสัญญา

อัตราดอกเบี้ย

ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยสูงมาก การซื้ออาจทำให้มีภาระในการผ่อนชำระต่อเดือนที่สูงมากตามไปด้วย เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงแล้ว จึงค่อยตัดสินใจซื้อจะทำให้มีภาระการผ่อนชำระต่อเดือนที่ลดลงได้เช่นกัน

มูลค่าซาก

การซื้อจะทำให้ผู้ซื้อได้รับกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ ซึ่งสามารถจะขายต่อได้ราคาที่ซื้อมาและมูลค่าซาก ที่สามารถขายต่อได้เมื่อหมดอายุการใช้งาน ให้ทำการเปรียบเทียบส่วนต่างกับค่าเช่าในแต่ละเดือน เพื่อดูว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ในกรณีการซื้อหรือการเช่า กรณีใดมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ากัน

ค่าปรับเมื่อเกิดการชำรุดเสียหาย

ถึงแม้การเช่าอาจจะไม่ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษา แต่ถ้าหากเกิดความเสียหายจากสินทรัพย์ ผู้เช่าอาจจะต้องชำระค่าปรับในจำนวนที่สูงได้

สรุปได้ว่า

การบริหารเงินสดเพื่อให้มีจำนวนเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายจำเป็น ไม่มากจนก่อให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส แต่ไม่น้อยจนเกิดการขาดแคลนในยามต้องการใช้เงิน การบริหารเงินสดมีหลากหลายช่องทาง เช่น การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ การซื้อตั๋วเงินคลัง หรือการลงทุนตลาดเงิน เป็นต้น ซึ่งการที่จะเลือกแนวทางใดในการบริหารเงินสด อาจพิจารณาได้จากปัจจัยที่สำคัญ ดังนี้ อัตราผลตอบแทน อัตราภาษี และความเสี่ยง เป็นสำคัญ

วัตถุประสงค์สำคัญที่ก่อให้เกิดการก่อหนี้คือ เพื่อตอบสนองต่อการบริโภค เพื่อความสะดวก หรือเพื่อการสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ทั้งนี้ผู้กู้ควรที่จะมีแนวทางในการบริหารสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถชำระเงินกู้คืนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ควรที่จะรู้ถึงข้อดีและข้อเสีย หรือข้อเปรียบเทียบระหว่างการซื้อและการเช่า สำหรับเป็นข้อมูลประเมินเพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสม.

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *