ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์ และคุณภาพชีวิตของความเป็นอยู่ของประชากรโลกพัฒนาสูงขึ้น ส่งผลให้ประชากรโลกมีอายุที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้น ถ้าหากสมมุติว่าอายุคาดหมายเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ปี ก็หมายความว่าจะมีชีวิตอยู่ภายหลังเกษียณอายุอีก 20 ถึง 25 ปี เนื่องจากคนโดยทั่วไปที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน หรือรับราชการส่วนใหญ่มักจะเกษียณอายุเมื่อมีอายุอยู่ในช่วง 55 – 60 ปี และเมื่อเกษียณอายุรายได้ที่เคยได้รับในช่วงก่อนเกษียณอายุก็จะต้องสูญเสียไปด้วย ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะรักษาระดับคุณภาพชีวิต เมื่อต้องสูญเสียรายได้ในช่วงหลังเกษียณ ให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกษียณ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยได้เป็นอย่างดีก็คือ การเตรียมความพร้อม และการวางแผนเพื่อวัยเกษียณที่ดี ในช่วงก่อนเกษียณนั่นเอง
1. ความหมายและความสำคัญของการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ
ก่อนที่จะเริ่มวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ มีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจถึงความหมาย และความสำคัญของการวางแผนเพื่อวัยเกษียณอย่างถ่องแท้เสียก่อน
1.1 ความหมายของการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ การเกษียณอายุหมายถึง การที่บุคคลถอนตัวออกจากงานประจำที่ทำอยู่ เมื่อมีอายุครบในระหว่าง 55-60 ปี โดยช่วงอายุที่จะเกษียณนั้นขึ้นอยู่กับอาชีพ และระเบียบข้อบังคับของแต่ละหน่วยงาน บางแห่งยังยอมรับบุคคลที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีทำงานต่อไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของบุคคลนั้น ๆ นอกจากนี้สำหรับบางคนอาจเลือกที่จะเกษียณอายุก่อนช่วงเวลาที่กำหนด ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความพร้อมของแต่ละบุคคล
การเกษียณอายุย่อมหมายถึงการสิ้นสุดลงของรายได้ประจำ ที่เคยได้รับจากการทำงาน ในขณะที่รายจ่ายยังคงดำเนินต่อไป และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลจากค่ารักษาพยาบาล ในการดูแลรักษาสุขภาพที่ทรุดโทรม การที่บุคคลจะเกษียณอายุต้องมีการเตรียมตัว และมีการวางแผนเพื่อรองรับการเกษียณอายุให้รอบคอบก่อน ซึ่งจะทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีความสุขในช่วงหลังเกษียณ
การวางแผนเกษียณอายุนั้นเป็นเรื่องสำคัญ นำไปสู่การพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอายุที่คาดหวัง จำนวนเงินเท่าใดที่ต้องการ ที่จะให้มีเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต รวมถึงสิ่งที่วางแผนที่จะทำเมื่อเกษียณ รวมถึงเงินที่จะนำมาใช้ในช่วงเกษียณจะมาจากที่ไหน สามารถสรุปความหมายของการวางแผนเพื่อวัยเกษียณได้คือ กระบวนการในการวางแผนการดำเนินชีวิตในช่วงหลังเกษียณอายุ ภายใต้พื้นฐานที่เป็นไปได้ เพื่อกำหนดกลยุทธ์และแนวทาง ที่จะทำให้แผนการดำเนินชีวิต ในช่วงหลังเกษียณอายุนั้นบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
การวางแผนเพื่อวัยเกษียณไม่ใช่เป็นแผนมาตรฐาน สามารถจะใช้ได้กับทุกคน เนื่องจากแต่ละคนจะมีสถานการณ์ที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการออมเงินเพื่อวัยเกษียณผ่านช่องทางต่าง ๆ แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้วางแผนทางการเงินจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูล และพิจารณาเป็นรายบุคคลไป
1.2 ความสำคัญของการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัญหาดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาทางด้านสังคมในเรื่องของภาระการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก เป็นต้น และด้วยเหตุนี้ทำให้หลายประเทศได้มีการสร้างระบบ เพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากผู้สูงอายุดังกล่าว โดยการผลักดันประชากรในเรื่องของการออมเงิน และการวางแผนเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ในช่วงเกษียณอายุมากยิ่งขึ้น ซึ่งระบบดังกล่าวถึงแม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถช่วยลดความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวได้ระดับหนึ่ง
การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการคาดการณ์โดยใช้อัตราส่วนการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ จะเป็นประเทศที่เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ และหากมีประชากรผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ ประเทศนั้นเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2553 และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี 2573 หรือใช้เวลาเพียง 20 ปีเท่านั้น
2. วัตถุประสงค์ของการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ
การมีรายได้ที่เพียงพอเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ชีวิตที่มีการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ จึงเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุ สามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมั่นคง มีความสุข ไม่ต้องประสบกับภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ จึงมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญดังนี้คือ
2.1 เพื่อรักษามาตรฐานความเป็นอยู่ของชีวิต ในช่วงหลังเกษียณให้เหมือนกับช่วงก่อนเกษียณ
2.2 การวางแผนด้านการเงินและการประมาณการล่วงหน้าที่ดี จะทำให้ทราบว่าหลังเกษียณมีรายได้สำหรับใช้จ่ายอย่างเพียงพอหรือไม่เพียงใด
2.3 การมีรายได้ที่เพียงพอเพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณ จำเป็นต้องมีการลดหย่อนหรือควบคุมค่าใช้จ่ายตั้งแต่เนิ่น ๆ
2.4 การวางแผนด้านการเงิน อาทิ การมีวินัยในการใช้เงิน การออม รวมทั้งการรู้จักเลือกลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม จะทำให้การดำรงชีวิตในวัยเกษียณ เป็นไปอย่างมีคุณภาพไม่เป็นภาระของลูกหลาน
2.5 การมีรายได้ในวัยเกษียณอายุที่พอเพียงในการดำรงชีวิต จะส่งผลให้ผู้สูงอายุอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า
3. สิ่งที่ต้องเผชิญเมื่ออยู่ในช่วงชีวิตหลังวัยเกษียณ
ผู้เกษียณอายุจากการทำงาน เป็นผู้ที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน ซึ่งสิ่งที่ต้องเผชิญเมื่ออยู่ในชีวิตหลังวัยเกษียณ สามารถสรุปได้ดังนี้
3.1 ปัญหาด้านรายได้ที่ลดลง นับว่าเป็นปัญหาที่มีความสำคัญต่อผู้ที่ใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ เนื่องจากข้อจำกัดของการประกอบอาชีพ อันมีสาเหตุมาจากสูงอายุทำให้รายได้ลดลง หรือเนื่องจากโอกาสของการหารายได้ที่ลดลง เมื่อเทียบกับเมื่ออยู่ในวัยทำงาน
3.2 ปัญหาด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหรือทางสรีระ ทำให้คุณภาพของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายที่เคยใช้งานได้ดีหย่อนสมรรถภาพลง หรือทำงานได้น้อยลง ทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา ปัญหาด้านสุขภาพไม่แข็งแรงเช่นแต่ก่อน และปัญหาการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ เป็นปัญหาที่สำคัญเป็นอันดับแรกของผู้อยู่ในวัยหลังเกษียณอายุ
3.3 ปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการสูญเสียรายได้ต่างๆ ที่เคยมีในอดีตหรือรายได้ที่ลดลง แต่ในขณะเดียวกันผู้อยู่ในวัยหลังเกษียณอายุ ยังคงต้องมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพซึ่งสูงขึ้นมาก และบางรายยังคงมีภาระหนี้สินที่ผูกพัน ตลอดจนภาระการดูแลผู้อยู่ในอุปการะ ที่ยังช่วยเหลือดูแลตนเองไม่ได้ ทำให้ผู้สูงอายุประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจมากขึ้นตามไปด้วย
ผู้เกษียณอายุนั้นจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ รวมทั้งเรื่องการเงิน เพื่อรองรับกับสิ่งที่จะต้องเผชิญในช่วงที่เกษียณอายุ และเพื่อรักษามาตรฐานการดำเนินชีวิตในช่วงหลังวัยเกษียณ ให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับการดำเนินชีวิตในช่วงก่อนเกษียณอายุ
4. ระบบการจัดสวัสดิการเพื่อการชราภาพ
จากสภาวะการที่ปัจจุบันประชากรโลกเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้น ดังนั้น ระบบบริหารการเงินของการให้ความคุ้มครองด้านรายได้แก่ผู้อยู่ในวัยเกษียณ จึงเป็นเรื่องที่ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ในโลก มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบบำนาญ เพื่อลดหรือแก้ไขความผิดพลาดทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายบำนาญ สำหรับผู้เกษียณอายุซึ่งสูงมาก จนส่งผลกระทบต่อการออม และระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ระบบการจัดสวัสดิการเพื่อการชราภาพจึงเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หรือกล่าวได้ว่ามีวัตถุประสงค์หลัก ในการบรรเทาความยากจน และการยังชีพอย่างไม่ขัดสนในวัยเกษียณ สำหรับการให้ความคุ้มครองในประเทศต่าง ๆ ปัจจุบันมี 4 รูปแบบคือ
4.1 รูปแบบที่ให้ประโยชน์กับผู้สูงอายุทุกคน เป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปของบำนาญแก่ประชาชนทุกคน ที่มีอายุอยู่ในเกณฑ์ชราภาพตามที่กำหนด โดยไม่คำนึงถึงฐานะความเป็นอยู่ รายได้ หรือสถานภาพการทำงานของผู้ขอรับประโยชน์
4.2 รูปแบบที่ให้ประโยชน์เฉพาะผู้สูงอายุที่เดือดร้อน เป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ หลังจากที่ได้มีการตรวจสอบรายได้ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนแล้ว
4.3 รูปแบบการประกันสังคม เป็นการให้ประโยชน์แก่สมาชิกในวัยเกษียณในรูปของบำนาญ โดยมีการพิจารณาจากประวัติการทำงาน หรือการจ่ายเงินสมทบของสมาชิก
4.4 รูปแบบกองทุนเงินสะสม เป็นการให้ประโยชน์ในรูปของการจ่ายเงินก้อน ให้แก่ผู้ที่ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน และมีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้เงินก้อนจะประกอบด้วย เงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุน รวมถึงดอกผลที่ได้รับจากการลงทุน และในบางครั้งเงินก้อนอาจถูกเปลี่ยนสภาพให้อยู่ในรูปของบำนาญได้ แต่โดยปกติเงินก้อนจะจ่ายให้ในคราวเดียวเท่านั้น
การวางแผนให้ความคุ้มครองด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้เกษียณอายุในรูปแบบต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ จะมีการใช้รูปแบบของการให้ความคุ้มครองผู้สูงอายุที่ต่างกัน ไม่มีประเทศใดที่ใช้เพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่จะผนวกหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน เป็นการให้ความคุ้มครองแบบหลายชั้น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับความคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
5. ระบบบำเหน็จบำนาญ
ในปัจจุบันรูปแบบระบบบำเหน็จบำนาญถือเป็นรูปแบบสากล และหลายประเภทต่างได้นำไปประยุกต์ใช้ ในการจัดการระบบสวัสดิการเพื่อการชราภาพของแต่ละประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็นลักษณะ 3 ชั้นประกอบด้วย
5.1 ชั้นที่ 1 ระบบกองทุนภาคบังคับ หรือบังคับออมโดยกฎหมาย บริหารจัดการโดยภาครัฐ เป็นกองทุนที่กำหนดผลประโยชน์ทดแทนขั้นต่ำ ที่สมาชิกจะได้รับเมื่อเกษียณอายุไว้ล่วงหน้า ด้วยผลประโยชน์ดังกล่าว ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน แต่ไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุน
5.2 ชั้นที่ 2 ระบบบำเหน็จบำนาญแบบบังคับ โดยมีการบริหารจัดการโดยภาคเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินสะสม และเงินสมทบในอัตราที่กำหนด เข้าบัญชีสมาชิกแต่ละราย โดยสมาชิกจะได้รับประโยชน์ทดแทนเต็มตามจำนวนเงินสะสม เงินสมทบในส่วนของตน ที่จ่ายเข้ากองทุนและดอกผลที่เกิดขึ้นเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งกองทุนในประเทศไทยที่มีรูปแบบใกล้เคียงกองทุนประเภทนี้คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่ปัจจุบันครอบคลุมเฉพาะข้าราชการเท่านั้น
5.3 ชั้นที่ 3 ระบบบำนาญแบบกำหนดเงินสมทบ เป็นระบบแบบสมัครใจ เป็นการออมส่วนบุคคล สำหรับคนที่ต้องการรายได้มากขึ้นเมื่อเกษียณอายุ และมีการบริหารจัดการโดยองค์กรเอกชน ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
6. ระบบสวัสดิการชราภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน
6.1 การเตรียมความพร้อมของสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทย ที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น การดูแลผู้สูงอายุซึ่งในอดีตเคยเป็นหน้าที่ของบุตรหลานได้มีการเปลี่ยนแปลงไป และเนื่องจากการที่บุตรหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และแยกครอบครัวไปอยู่ตามลำพัง ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงมีการเตรียมความพร้อมที่สำคัญด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ประเทศไทยได้มีแนวนโยบาย การดำเนินการคุ้มครอง และจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ สรุปได้ดังนี้
6.1.1 แผนผู้สูงอายุระยะยาว(พ.ศ. 2525 – 2544) ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติขึ้น เพื่อมีหน้าที่วางแผน กำกับดูแลนโยบาย และจัดกิจกรรมระดับชาติ ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุในระยะยาว โดยมีการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ในด้านการจัดสวัสดิการเคลื่อนที่ และการให้สิทธิ์ลดหย่อน หรือยกเว้นภาษีรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ และบุคคลที่อุปการะผู้สูงอายุไว้ในครอบครัว
6.1.2 นโยบายและมาตรการผู้สูงอายุระยะยาว (พ.ศ. 2535 – 2554) มาตรการดังกล่าวได้ถูกจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริม และให้บริการที่จะทำให้ผู้สูงอายุรู้จักการปรับตัว การป้องกันโรค และการรักษาสุขภาพ
6.1.3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติเรื่องสิทธิของผู้สูงอายุในหมวดของสิทธิและเสรีภาพของชาวไทย และหน้าที่ชนชาวไทยเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับความช่วยเหลือ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองได้
6.1.4 ปฏิญญาผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในเรื่องสิทธิของผู้สูงอายุ ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้แผนงาน นโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ได้นำไปสู่การปฏิบัติ ในปี พ.ศ. 2542 ผู้แทนจากองค์การที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรผู้สูงอายุและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมกันจัดทำปฏิญญาผู้สูงอายุไทยขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สูงอายุไทย
6.1.5 แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ 2545 – 2564 ได้กำหนดให้แผนฉบับนี้เป็นแผนยุทธศาสตร์ 5 หมวดได้แก่
6.1.5.1 ยุทธศาสตร์ด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ มีมาตรการที่เป็นการพัฒนาคุณภาพของผู้สูงอายุในระยะยาวคือ มาตรการหลักประกันรายได้เพื่อผู้สูงอายุ
6.1.5.2 ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมผู้สูงอายุ
6.1.5.3 ยุทธศาสตร์ด้านระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ
6.1.5.4 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุระดับชาติ และการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ
6.1.5.5 ยุทธศาสตร์การประมวลและพัฒนาองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ
6.1.6 พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ใช้เป็นกฎหมายที่จะเอื้อให้เกิดโครงสร้างองค์กรและระบบบริหารจัดการ จะรองรับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุของประเทศ พระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญโดยสรุปคือ มีการกำหนดให้มีคณะทำงานที่รับผิดชอบในการจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ ทั้งในเชิงนโยบาย แผนงาน และเสนอความเห็นในการออกกฎหมาย ให้มีการจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุเพื่อเป็นทุนใช้จ่าย เกี่ยวกับความคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุ
6.2 แหล่งเงินออมเพื่อวัยเกษียณของประเทศไทย สำหรับรูปแบบการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุของประเทศไทย ยึดหลัก Multi-pillar เช่นเดียวกับรูปแบบการออมเพื่อการชราภาพของประเทศอื่น ๆ ด้วยภาพรวมโครงสร้างการออมเพื่อการเกษียณอายุของประเทศไทยเป็นไปตามรูป
6.2.1 ชั้นที่ 1 เป็นการออมเพื่อการเกษียณอายุภาคบังคับ บริหารจัดการโดยภาครัฐ รูปแบบกองทุนประเภทนี้ในกรณีของประเทศไทยคือ กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพมี 2 ลักษณะคือ จ่ายเป็นเงินบำนาญให้ตลอดชีวิต และการจ่ายเป็นบำเหน็จหรือเงินก้อน
6.2.2 ชั้นที่ 2 การเกษียณอายุแบบบัญชีรายตัวภาคบังคับ แต่บริหารจัดการโดยภาคเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งผลประโยชน์ทดแทนขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่จ่ายเข้ากองทุน และผลประโยชน์ที่เกิด ในกรณีของประเทศไทย สำหรับสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกได้รับเมื่อเกษียณอายุนั้น สมาชิกจะได้รับเงินสะสม เงินสมทบ และเงินผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบจาก กบข. รวมทั้งได้รับเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการจากกระทรวงการคลัง เมื่อเกษียณอายุราชการ
6.2.3 ชั้นที่ 3 การออมภาคสมัครใจแยกบัญชีแบบรายบุคคล บริหารจัดการโดยภาคเอกชน ซึ่งผลประโยชน์ทดแทนขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่จ่ายเข้ากองทุน และผลประโยชน์ที่เกิดมีทั้งในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว การประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำหรือเงินได้รายปี
7. กระบวนการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ
การจัดทำแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณนั้น สามารถแบ่งกระบวนการในการจัดทำออกเป็น 6 ขั้นตอนคือ
7.1 ขั้นตอนที่ 1 การสร้างความสัมพันธ์ การสร้างแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณก็คือ การทำให้เป้าหมายทางการเงินเพื่อวัยเกษียณประสบความสำเร็จ ภายใต้สมมติฐานและพื้นฐานของชีวิต ภายใต้ความสัมพันธ์นี้นักวางแผนทางการเงินและลูกค้า จะต้องเข้าใจถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน
7.2 ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อมูล นับเป็นปัจจัยสำคัญ ที่สามารถกำหนดความสำเร็จของแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการทำแผนเพื่อวัยเกษียณ นักวางแผนทางการเงินจะต้องรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน ซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป ข้อมูลสมมุติฐานซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น ข้อมูลสมมติฐานเชิงคุณภาพ เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางการเงิน เป้าหมายในการดำเนินชีวิตในช่วงหลังเกษียณอายุ และสมมติฐานเชิงปริมาณ เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับการคำนวณจำนวนเงิน เพื่อจัดทำแผนเพื่อวัยเกษียณต่าง ๆ ได้แก่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต้องการ อัตราเงินเฟ้อ อัตราส่วนเงินได้ที่ต้องการภายหลังเกษียณเทียบกับก่อนเกษียณ อายุที่คาดว่าจะเกษียณ จำนวนปีที่คาดว่าจะอยู่ภายหลังเกษียณ วิธีการในการประมาณการความต้องการเงินแบ่งออกเป็น วิธีการประมาณการจากรายได้ในปัจจุบัน และวิธีการประมาณการจากค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน
7.3 ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำประมาณการความต้องการทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ เป็นการคำนวณหาจำนวนเงินที่ต้องการ เมื่อเกษียณอายุตามเป้าหมายที่ต้องการ โดยวิธีการคำนวณมี 2 วิธีการคือ คำนวณจากเงินได้และการคำนวณจากค่าใช้จ่าย เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับแหล่งเงินออมเพื่อเกษียณอายุ เพื่อต้องการทราบว่าแหล่งเงินทุนที่จะนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่าย สำหรับการดำเนินชีวิตในช่วงหลังเกษียณอายุนั้นมีเพียงพอกับจำนวนเงินที่ต้องการเกษียณอายุตามเป้าหมายที่คำนวณได้หรือไม่ และหากเงินออมเพื่อเกษียณมีไม่เพียงพอกับความต้องการเมื่อเกษียณ จะต้องวางแผนการออมเงินเพิ่มเป็นจำนวนเท่าใด
7.4 ขั้นตอนที่ 4 สรุปผลวิเคราะห์ทางการเงินเพื่อวัยเกษียณพร้อมคำแนะนำ ความรับผิดชอบช่วยให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ โดยการรวบรวม วิเคราะห์ และเสนอแนะวิธีที่มีความเป็นไปได้ ภายใต้สถานการณ์ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์เพื่อการเกษียณอายุที่มีความแตกต่างกัน โดยแผนทางการเงินจะต้องแสดงถึง จำนวนเงินที่ต้องการทั้งหมดเมื่อเกษียณอายุ รวมถึงจำนวนเงินเพื่อวัยเกษียณ ส่วนที่ขาดอยู่ พร้อมทั้งแผนการออมเงินเพื่อวัยเกษียณเพิ่มเติม
7.5 ขั้นตอนที่ 5 การดำเนินการตามแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ การวางแผนการออมเงินเพิ่มเพื่อวัยเกษียณ จะถูกกำหนดขึ้นหลังจากการจัดทำประมาณการทางการเงินแล้ว ดังนั้น จะต้องพิจารณาถึงวิธีที่จะออมเงินหรือลงทุน เพื่อให้มีเงินทุนเพื่อเกษียณอายุเพิ่มเติมตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้แผนการออมหรือการลงทุนนั้น จะต้องได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนตามที่กำหนดไว้ด้วย ตามสมมติฐานการคำนวณจำนวนเงินที่ต้องการตอนเกษียณอายุ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจถึงลักษณะของผลตอบแทน และความเสี่ยงที่ได้รับจากการลงทุน รวมถึงภาระภาษีที่จะมีในระหว่างการลงทุนด้วย
7.6 ขั้นตอนที่ 6 การติดตามทบทวนแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ มีปัจจัยจำนวนมากที่จะส่งผลกระทบต่อแผนการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ และปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้จะยังคงมีการเปลี่ยนแปลง และคงอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดในช่วงก่อนเกษียณอายุ เช่น การเปลี่ยนงานหรือตกงาน การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของรายได้ของครอบครัว การเจ็บป่วยรุนแรง การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อการคำนวณความต้องการเงินได้เมื่อเกษียณอายุ การทบทวนแผนการทางการเงินอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงของแผนอาจจะส่งผลกระทบต่อแผนอื่น ๆ อีกด้วย
สรุปได้ว่า เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างประชากรของประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ส่งผลให้อายุคาดหมายเฉลี่ยของคนไทยยืนยาวมากขึ้น ทำให้แนวโน้มที่คนไทยจะมีชีวิตภายหลังเกษียณอายุยาวนานมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้เกษียณอายุจะต้องมีเงินทุน ที่จะนำไปใช้สำหรับการดำเนินชีวิตในช่วงเกษียณอายุ ในจำนวนที่มากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่การให้ความคุ้มครองทางด้านรายได้ผู้เกษียณอายุของภาครัฐนั้น ไม่เพียงพอกับความต้องการ และไม่เพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่าย ในการดำเนินชีวิตภายหลังเกษียณอายุได้ จึงเป็นเหตุผลที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ทุกคนจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการวางแผน เพื่อการเกษียณอายุเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตภายหลังเกษียณอายุที่มีคุณภาพ ใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกษียณ และมีความสุขในช่วงบั้นปลายของชีวิต ตามที่ต้องการตลอดในช่วงเกษียณ